โควิด-19 หายเพิ่ม3 ราย “อนุทิน” เซ็นประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้ว หมอย้ำกลับจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดและโฆษก สธ. พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่10 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 13 ราย กลับบ้านแล้ว 27 ราย รวมสะสม 40 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – วันที่ 26 กุมภาพันธ์ สะสมทั้งหมด 2,064 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 76 ราย มารับการรักษาที่ รพ.เอง 1,988 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,352 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ. 712 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกใน 46 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 81,406 ราย เสียชีวิต 2,771 ราย ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนพบผู้ป่วย 78,073 ราย เสียชีวิต 2,715 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรณีของผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นปู่และย่าที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีการติดเชื้อในหลานอายุ 8 ขวบ ที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศร่วมด้วย ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยอย่างมาก และได้โทรเข้ามาสอบถามข้อมูลที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรคจึงเปิดช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติมทางแชท  บอท (chat boat) ชื่อ “คร.OK” ที่สามารถตอบคำถามที่พบบ่อย หรือ แอพพลิเคชั่นไลน์ ชื่อ “รู้กันทันโรค” ประชาชนสามารถเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อฟังข้อมูลอัตโนมัติ หรือฝากข้อความให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการด้านไวรัสโคโรนา2019

Advertisement

“จึงออกข้อแนะนำแก่ประชาน ดังนี้ 1.ประเทศที่มีรายงานการแพร่ระบาดให้ติดตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค โดยขณะนี้มี 9 พื้นที่ คือ จีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิตาลี และอิหร่าน 2.หากจะต้องเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดให้ เลี่ยง เลื่อน งด การเดินทางออกไปก่อน 3.หากจำเป็นต้องเดินทางไปให้ ให้ปฏิบัติตนตามหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 4.ระหว่างเดินทางแล้วมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งไปยังสถานทูตไทยประจำเทศนั้น 5.หลังเดินทางและกลับมาประเทศไทย ขอความร่วมมือให้เข้ารับการคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และสามารถขอรับการตรวจเพิ่มเติมได้ ยืนยันว่ายังมีการใช้งานเครื่องเทอร์โมสแกนอยู่ที่สนามบิน และหากมีอาการป่วย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อรับการรักษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย 6.หากคัดกรองที่สนามบินแล้วไม่พบอาการป่วย ให้อยู่บ้านเฝ้าระวังอาการ 14 วัน เพื่อความรับผิดชอบตัวเองและสังคม 7.หากภายใน 14 วัน มีอาการป่วย ให้เดินทางไปรพ.ใกล้บ้าน แจ้งข้อมูลกับสถานพยาบาลเพื่อไม่ให้เสียค่าใช้จ่าย 8.หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่ยังอยู่ในระยะ 14 วัน ก็ยังต้องดูแลตัวเองที่บ้านและกลับมาพบแพทย์ตามนัด 9.ให้เชื่อข้อมูลของ สธ.และกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 และยืนยันว่าห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสมี 7 แห่ง และมีแผนการขยายไปทั่วประเทศ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การรักษาด้านจิตใจ ซึ่งในการโพสต์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ จะต้องเข้าใจหัวอกเดียวกัน ผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ต้องการป่วย และตอนนี้คนเหล่านี้เป็นผู้น่าสงสาร อย่างเช่นในสมัยก่อนที่มีโรคติดต่ออันตราย คือ โรคเอชไอวี มีการแบ่งแยก กีดกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่มีที่อยู่ในสังคม มีผลกระทบด้านจิตใจ ซึ่งเมื่อจิตใจไม่ดีก็ส่งผลกระทบร่างกาย

“อย่างไรก็ตามผู้ที่ป่วยติดเชื้อไวรัสแล้วหากเข้ารับการรักษาแล้ว แจ้งข้อมูลกับแพทย์ไปแล้ว ถึงแม้กรณีของคนจีนที่คนไทยดูแล ก็ได้มาชม รพ.ราชวิถี สถาบันบำราศฯ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วล้วนดีเสมอ ต้องให้กำลังใจกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 3 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศทั้ง 3 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร 2 ราย เป็นชายจีน อายุ 63 ปี และชายไทย อายุ 49 ปี จาก รพ.ราชวิถี เป็น หญิงจีน อายุ 33 ปี มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 27 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ. 13 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 40 ราย และในประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิต อัตราการรักษาหายดีคิดเป็นร้อยละ 67 สำหรับความคืบหน้ากลุ่มผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย ที่มีการยืนยันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ขณะนี้อาการดี อยู่ระหว่างการรักษาที่สถาบันโรคทรวงอก และสถาบันบำราศฯ และการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 101 ราย ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อนร่วมกรุ๊ปทัวร์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ขณะนี้ติดตามได้ครบทุกคนแล้ว โดยใน 97 ราย ผลเป็นลบ และอีก 4 ราย อยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อตามนิยามของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย 1.ผู้สัมผัสใกล้ชิด หรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นาน 5 นาที หรือถูกไอ จามรดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย 2.ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิดไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วยและอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นาน 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการบังคับใช้กฎหมาย ในการให้อยู่เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน หากไม่ทำตามจะมีความผิดอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน เห็นชอบประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอยู่ในระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมีผลบังคับใช้ประชาชน สถานพยาบาล ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม รวมถึงห้องชันสูตร จะต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องรายงานและแจ้ง หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย และกรณีผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยแล้วเมื่อตนพบอาการป่วยไข้ อาการของระบบทางเดินหายใจ จะต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันไม่ให้แพร่กระจายติดต่อไปสู่ผู้อื่น กรณีนี้หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การที่ไม่แจ้งมีโทษปรับ 20,000 บาท เรื่องของจำนวนเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดแต่สิ่งที่สำคัญคือ ความปลอดภัยที่ได้รับการรักษาเร็ว

เมื่อถามว่า จะมีคำแนะนำกับสถานพยาบาลอย่างไรบ้างในการป้องกันกรณีที่มีผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวน แต่หลบเลี่ยงการสวบสวนโรค นพ.ณรงค์ กล่าวว่า มาตรการมีการบังคับใช้ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ในการควบคุม คัดกรอง และมีระบบที่เข้มงวดแต่อย่างไรก็ตามจะมีการเน้นย้ำในความเข้มงวดมากขึ้นไป

นพ.โสภณ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีคำที่ใช้ 3 คำ คือ 1.การแยกกัก (Isolation) เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยแล้วจะต้องนำเข้าห้องแยกโรคความดันลบ 2.การกักกัน (Quarantine) ใช้สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย แต่มีโอกาสได้รับเชื้อ เช่น หากมีผู้ป่วยในบ้าน 1 ราย และมีผู้ที่อยู่ในบ้านใกล้ชิดกันแต่ยังไม่มีอาการป่วย ก็จะต้องมีการกักกันผู้สัมผัสใกล้ชิดไว้ ซึ่งทำได้ทั้งที่บ้านเรียกว่า Home Quarantine และใน รพ.เรียกว่า Hospital Quarantine ซึ่งไม่มีความน่ากลัว ส่วนใหญ่คนที่ถูกกักกันเมื่อครบ 14 วัน คนเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ป่วย และจากข้อมูลขณะนี้ มีประมาณร้อยละ 2 ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเมื่อกักกันแล้วพบเชื้อ แต่ร้อยละ 98 หลังจากกักกันแล้วไม่พบเชื้อ แต่จะต้องทำเพื่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ที่ถูกกันกันและคนรอบข้าง และ 3.คุมไว้สังเกตอาการ (under observation) กรณีที่สัมผัสแต่ไม่ใกล้ชิด สัมผัสเสี่ยงต่ำ เช่น เครื่องบินลำเดียวกัน ผู้สัมผัสใกล้ชิด คือ ผู้ที่อยู่รอบๆ ระยะ 2 แถวหน้า-หลัง แต่ผู้ที่นั่งไกลออกไปเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ โดยการสังเกตอยู่บ้านได้ 14 วัน ใช้ชีวิตได้ปกติ แต่จะต้องสังเกตอาการตนเองทุกวัน วัดไข้ ดูว่ามีอาการไอ จาม หรือไม่ เพราะถึงจะมีความเสี่ยงน้อยแต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดจะต้องคุมไว้สังเกตการ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถทำได้ตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า กรณีผู้ป่วย 3 รายที่เป็น ปู่ ย่า และหลาน มีผู้ที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ จ.ระยอง รวมถึงดอนเมืองมีความกลัวว่าจะได้รับเชื้อ นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นการติดต่อโดยละอองฝอยขนาดใหญ่ การกระจายเชื้อระยะ 1 เมตร และหากผู้ใกล้ชิดจะต้องอยู่ร่วมกัน 5 นาทีขึ้นไป และจากการสอบสวนโรคพบว่าในครอบครัวจำนวน 5 ราย ได้รับเชื้อแค่หลาน 1 ราย และอีก 4 ราย ไม่ได้รับเชื้อไวรัสและปลอดภัย ดังนั้นคนที่อยู่ไกลออกไป ก็มีความเสี่ยงลดลง เช่น คนข้างบ้าน หน้าหมู่บ้าน ไม่สามารถติดได้อยู่แล้ว และอยากให้ประชาชน มั่นใจว่าการป้องกันการติดเชื้อ เราได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับการเกิดโรค

เมื่อถามว่า คนไทยกลับมาจากต่างประเทศ 2-3 วัน และรีบไปตรวจหาเชื้อไวรัส เพื่อนำผลยืนยันว่า ไม่พบการติดเชื้อ จึงอยากให้อธิบายข้อมูลกรณีการตรวจหาเชื้อในระยะ 2-3 วัน ว่าสามารถเจอเชื้อหรือไม่ และหากมีผลการตรวจหาเชื้อมาแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วันในการเฝ้าสังเกตอาการ จะมีโอกาสที่แพร่เชื้อได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไป ในบางหน่วยงานที่มีนโยบายให้พนักงานที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วให้ไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งกรณีนี้ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากสิ่งที่ควรทำคือการสังเกตอาการก่อน หากมาในลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง ถึงแม้จะมาจากพื้นที่มีการแพร่ระบาดแต่ไม่ได้ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและยังไม่มีอาการป่วยในขณะนั้น ดังนั้น การสังเกตอาการจึงเป็นคำแนะนำที่ 1 แต่เพื่อลดการแพร่เชื้อต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ แยกสำรับอาหาร หากมีอาการป่วย ให้ไป รพ.และแพทย์จะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรณีนี้จึงจะมีโอกาสพบเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนมากไม่ใช่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่มีบางกรณีเท่านั้นที่จะตรวจทางห้องปฏิบัติการในทันที เช่น การผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ เช่น กรณีคนในครอบครัวผู้ป่วย แต่หากไม่พบเชื้อแล้วจะใช้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน และมีการตรวจซ้ำ เพราะว่าเชื้อโรคไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่ติดเชื้อ เมื่อเริ่มมีอาการไปตรวจก็จะมีโอกาสเจอมากขึ้น แต่ไม่อยากให้แต่ละหน่วยงานมีนโยบายให้ไป รพ. เพื่อไปตรวจหาเชื้อ เพราะไม่มีความจำเป็น ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน เพิ่มภาระให้กับ รพ. ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่แล้ว และอาจจะไปรับเชื้อใน รพ.ได้อีกด้วย

เมื่อถามว่ากรณีของแม่บ้าน ที่มีคนในครอบครัวเดินทางไปที่เมืองกวางโจ มีผลการตรวจหาเชื้อเป็นอย่างไรบ้าง และผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ มีผลอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ในกรณีที่เป็นหญิงอายุ 30 กว่าปี ที่ตรวจพบเชื้อและอยู่ในระหว่างการรักษา ผลการตรวจของคนในบ้านทุกคนเป็นลบ คือ ไม่พบเชื้อไวรัส และในกรณีที่มีผู้ที่เดินทางกลับจากเมืองกวางโจว มีระยะเวลาที่พบนานเกิน 14 วันไปแล้ว เชื้อได้หมดออกจากระบบของทางเดินหายใจไปแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ปลอดภัยและไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image