‘อนุทิน’ เผยผู้ป่วย ‘โควิด-19’ เหลือใน รพ. 13 ราย โคม่า 2 ราย เหตุมี ‘วัณโรค-เบาหวาน’ แทรกซ้อน

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า วันนี้มีการลงนามในประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ประชุมจึงหารือแนวทางการรอวรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนในจำนวนผู้ป่วยยืนหยัดติดเชื้อสะสม 40 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 27 ราย เหลือที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 13 ราย หากมองในแง่ดีจะเห็นได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัส มีอัตราการหายร้อยละ 67 และที่ยังอยู่ใน รพ.อาการดีขึ้นตามลำดับ โดยมีรายที่อาการหนัก คือ รายที่ 1 ผู้ป่วยที่มีอาการวัณโรคร่วมด้วย และรายที่ 2 มีภาวะของโรคเบาหวาน แพทย์ได้ทำการรักษาอย่างใกล้ชิด

“สิ่งที่เราอยากจะขอร้องให้ประชาชน องค์กร ห้างร้าน แม้กระทั่งหน่วยงานราชการ ขอให้ช่วยกันลดการเสี่ยงไปรับเชื้อมา คือการงดเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งมีประกาศอยู่แล้ว รวมถึงการคัดกรองหาผู้ป่วย เราก็ยังทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการที่มีผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงก็ขอความร่วมมือกันในการการันตีตนเอง 14 วัน ด้วยการกักกันตัวเอง แต่ตอนนี้เรายังไม่ถึงขั้นประกาศบังคับ ถ้าจะบังคับใช้จะเป็นบังคับใช้เป็นรายๆ เป็นเมืองๆ ไป อันนี้ไม่ใช่นโยบาย เป็นหลักการตามขั้นตอนของคณะผู้ปฏิบัติการเขามีวิธีการปฏิบัติอยู่แล้ว” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่าองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีความพร้อมผลิตยาที่จะนำมาใช้ประคับประคองอาการ และถึงแม้ทั่วโลกยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะ แต่ว่า สธ.ก็ใช้วิธีการนำยาฆ่าไวรัสที่มีอยู่ในปัจจุบัน มาประคับประคองอาการให้กับผู้ป่วยและเมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยแข็งแรงมากขึ้น ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันจนหายได้ในที่สุด โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย กล่าวในที่ประชุมว่า ผู้ป่วยที่หายดี 27 ราย นั้น เป็นการรักษาหายด้วยตัวเอง หากมีพื้นฐานสุขภาพที่ดีและไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่างกายก็จะผลิตภูมิคุ้มมาต่อสู้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตทุกราย หากมาหาแพทย์ทำการตรวจรักษาก่อนที่เชื้อจะลุกลามไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะที่ปรึกษามีคำแนะนำอย่างไรบ้าง นายอนุทินกล่าว คณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ แพทย์อาวุโส อดีตผู้บริหาร สธ. ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลไทย โดย สธ.ดำเนินการป้องกันและรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา2019 เรายังอยู่หน้าสถานการณ์อยู่ และมีความสามารถที่จะใช้มาตรการที่จะกดความชันของการเข้าสู่ระยะที่ 3 ให้ยาวออกไปให้นานที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศพื้นที่เสี่ยงที่เข้ามาในประเทศไทย ก็มีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญ ดังนั้นโอกาสที่ประชาชนจะไปรับเชื้อก็จะลดน้อยลงไปด้วย หากทุกคนช่วยกันให้ความร่วมมือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ไปในสถานที่คนแออัด ทุกอย่างก็จะสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง

“ระยะ 1, 2, 3, 4, 5 เป็นสิ่งที่เรากำหนดมาทั้งนั้น เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานภายในของคณะแพทย์ เพียงแต่ว่าบางทีเราจะต้องเล่าว่าระยะ 1, 2, 3 คืออะไร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว ระยะไหนก็มีคนป่วย เราก็ต้องรักษาอย่างเต็มที่ให้เขาปลอดภัย ตอนนี้เราหวังว่าถ้าทุกคนมห้ความร่วมมือไม่เดินทางไปประเทศสุ่มเสี่ยง กลับมาแล้วดูแลตัวเอง 14 วัน วันนี้เรามีผู้ป่วยยืนยัน 40 ราย หายไปแล้ว 27 ราย ช่วยคิดนิดนึงได้ไหมว่าจริงๆ ตอนนี้มีผู้ป่วยอยู่ 13 ราย แล้วก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนๆ คนคลายความกดดันลงไปบ้าง และแม้ประชาชนทั่วไปมองว่า 40 ราย หายไป 27 รายแล้ว โอกาสที่โรคนี้จะถูกบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงมากๆ ใครติดแล้วมีอันตรายสูง เราก็ลองทำความเข้าใจกับมัน ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและมัความระมัดระวังตัวต่อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้แพทย์ ช่วยให้การระบาดแคบลง และช่วยทำให้เกิดความมั่นใจว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ ไม่ว่าใครจะมาชื่นชม โดยท่านประธานธิบดีสหรัฐ ชื่นชม เราก็ดีมจแต่ไม่ได้มองว่าตรงนั้นเป็นจุดที่เราทำดีแล้ว เราพอแล้ว เราดีใจอยู่ 5 วินาทีและเราก็ทำงานหนักกันต่อไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้มั่นใจว่าเราไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มจนเราไม่ได้ทำอะไร” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

เมื่อถามว่าในทางวิชาการจะคาดการณ์ได้หรือไม่ว่า คนไทยที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วกักกันตัวเอง 14 วัน และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จะสามารถยืดระยะนี้ออกไปได้นานแค่ไหน นายอนุทิน กล่าวว่า อัตราความเสี่ยงลดน้อยลง อัตราการติดเชื้อก็ลดน้อยลง อัตราผู้ป่วยก็จะลดน้อยลงแต่ความพร้อมในการดูแลรักษาเท่าเดิม ความพร้อมด้านยาเวชภัณฑ์ แพทย์ในการรักษามีมากขึ้น ไม่อยากใช้การคาดการณ์กับชีวิตคน อยากให้ใช้การคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ มีผลลัพธ์จากการคำนวณ จะได้มองไปในทางเดียวกัน

“ไม่มีการปกปิดข้อมูล ไม่มีการปรุงแต่งข้อมูลใดๆ หากยิ่งซ้อนยิ่งทำให้เหนื่อย และไม่มีผลที่จะต้องซ้อน ต่อให้เจอคนมากกว่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะลดความตั้งใจที่จะทำงาน ต่อให้เจอผู้ป่วยมากกว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านใดท่านหนึ่งจะถูกย้ายออกจากตำแหน่ง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันไม่มีความหมาย ขอให้มั่นใจว่าเราเจอผู้ป่วย เราก็จะรายงาน รักษาให้หายโดยเร็วที่สุด และจะพยายามทำให้ทุกอย่างมันเป็นเรื่องปกติให้มากที่สุด ต่อจากนี้ก็คงจะมียามารักษาโดยตรง ซึ่งเป็นวงจรของโรคระบาดมาทุกยุคทุกสมัย” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image