ด่วน!ไทยติด ‘โควิด-19’ อีก 1 ราย ‘ไกด์หนุ่มกลับจากเกาหลีใต้’ เร่งตามคนใกล้ชิด-ผดส.เครื่องบินหาเชื้อ

‘กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หายเป็นปกติ กลับบ้านได้อีก 1 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 รายกลับจากเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ คณะผู้บริหาร แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า วันนี้มีข่าวดีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพทย์รักษาหายอนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย  เป็น ชายชาวจีน อายุ 30 ปี จากสถาบันโรคทรวงอก และได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 25 ปี อาชีพไกด์นำเที่ยว มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ ขณะนี้ได้รับตัวไว้ในสถาบันบำราศนราดูร ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ 2 คน ส่วนเพื่อนร่วมทัวร์ และผู้สัมผัสบนเครื่องบินอยู่ในระหว่างการติดตาม ทั้งนี้ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

นพ.สุขุม กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 28 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 41 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้แล้ว แต่ยังรอร่างกายฟื้นตัว

Advertisement

นพ.สุขุม กล่าวว่า โดยสรุปขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 41 ราย หายแล้ว 28 ราย ยังอยู่ในการรักษาที่ รพ.จำนวน 13 ราย ส่วนผู้ป่วยวิกฤตจำนวน 2 ราย ที่อยู่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ อยู่ในระหว่างการรักษาร่างกายให้ฟื้นตัวเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนกรณีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวน เช่น บุคคลในครอบครัวของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองตามมาตรฐาน ผู้ใกล้ชิด ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงจำนวน 373 ราย ได้ดูแลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ใช่ผู้ป่วยที่เป็นโรค มีโอกาสตรวจพบได้ไม่เกินร้อยละ 2

นพ.สุขุม กล่าวถึงเรื่องมาตรการการเฝ้าระวังและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวว่า ต้องมีการกักกันตนเอง (Self-Quarantine at home) ตามมาตรฐานการป้องกันโรค โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความจำเป็นต้อง แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้แก่ 1.ผู้เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI ซึ่งกลุ่มนี้มีทั้งอาการและประวัติเสี่ยง ต้องแยกกักอย่างเข้มงวด 2.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง (High Risk Contact) กลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อสูงจากผู้ป่วย หรือผู้สงสัยว่าป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมทำงาน ร่วมยานพาหนะ ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามนิยามของกรมควบคุมโรค รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐานในขณะที่ให้การดูแลผู้ป่วยบุคคลดังกล่าวในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องกักกันตนเอง (Self-Quarantine at home) อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น งดกิจกรรมทางสังคม งดไปทำงาน งดไปโรงเรียนเรียน แยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น

นพ.สุขุม กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วยแต่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ขอให้ปฏิบัติตัว ดังนี้ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขอความร่วมมือลดกิจกรรมทางสังคม (Social Distancing) ให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน ที่พัก เฝ้าระวังตนเองเป็นเวลา 14 วัน หลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น แต่หากมีอาการ ไข้ไอ เจ็บคอ ต้องพบแพทย์ทันที กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากไปในที่ที่มีคนอยู่มาก

“ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย หรือผู้ที่ถูกรับตัวเข้าไว้สังเกตอาการก็ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกคน ขออย่ารังเกียจ อย่าตีตรา อย่าล้อเลียนผู้ป่วย ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ขอให้เห็นใจ ส่งกำลังใจให้หายป่วย ทุกคนที่ป่วยและเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างและสังคมมีโอกาสน้อย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่พบถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้ประชาชนตระหนักว่าการปกข้อมูลเป็นผลเสียกับตัวผู้ป่วยเอง สังคมรอบข้าง และประเทศชาติ” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ข่าวดีด้านวัคซีนของประเทศไทยในวันนี้เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่าง สธ. โดย กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบโอเนตไทย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่มีองค์ความรู้อยู่แล้วแต่จะมีการแบ่งปันความรู้ร่วมกันต่อต้านโรคอุบัติใหม่ โดยใช้โรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นตัวแบบในการพัฒนา สร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย ที่ไม่มีเชื้อแล้ว แต่รอให้ร่างกายฟื้นตัวยังอยู่ในห้องความดันลบหรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ยังอยู่ในห้องความดันลบ อาการคงที่ ไม่แย่ลง แต่ไม่มีเชื้อในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังใช้เครื่องช่วยหายใจและยังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากรายที่1 เป็นผู้สูงอายุและมีอาการวัณโรคร่วมด้วย ส่วนรายที่ 2 เป็นไข้เลือดออกอยู่ก่อนหน้าที่จะได้รับการวินิจฉัย มีโรคแทรกซ้อน

นพ.โสภณ กล่าวถึงเรื่องของวัคซีนว่า ยังต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ต่างประเทศที่มีความพร้อมและเริ่มก่อนหน้าเรา ก็คาดว่า 9-12 เดือน และของประเทศไทยยังให้คำตอบยาก แต่คาดว่า 9-12 เดือน จะได้ในสัตว์ทดลอง

เมื่อถามว่ากรณีผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เป็นปู่ย่าและหลาน มี 97 ราย ผลเป็นลบ และ 4 ราย อยู่ระหว่างการตรวจ ขณะนี้มีผลอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ทุกคนผลเป็นลบ แต่อยู่ในระยะเวลาการเฝ้าระวัง 14 วัน หลังจากนี้

เมื่อถามว่าผู้ป่วยรายที่เป็นไกด์กลับจากเกาหลีใต้ ไปเมืองไหน เดินทางกลับมาเมื่อใด การติดตามผู้สัมผัสแค่ 2 ราย จะมีความเสี่ยงอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไปทัวร์เมืองในเกาหลีใต้ที่มีไม่กี่เมือง และได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ราย ส่วนที่เหลือคือ กลุ่มทัวร์ คนบนเครื่องบิน บุคลากรทางการแพทย์ จะถูกทยอยติดตามมาเพื่อตรวจ ใครมีไข้จะแยกออกมา ถ้าใครไม่มีไข้ก็จะเข้มงวดในการเฝ้าระวังไม่น้อยกว่า 14 วัน สังคมอย่าไปแตกตื่น ไม่รังเกียจ ต้องชื่นชมให้เข้าออกมาแสดงตัว เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image