หลังราชกิจจาฯประกาศ ‘โควิด-19’ โรคอันตราย ‘รพ.-เจ้าบ้าน-คนใกล้ชิด’ ต้องแจ้งใน 3 ชม.

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ สถานพยาบาล เจ้าบ้าน เจ้าของสถานที่ที่พบผู้ป่วยหรือรู้ว่ามีผู้ป่วยต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 3 ชั่วโมง

“หากแจ้งก็จะมาดูว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์จะแจ้งมายังผู้รับผิดชอบ เช่น กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งผู้ป่วยรายนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะไปตรวจที่ไหนก็ตาม แต่หากไม่แจ้ง จะมีความผิด หรือดำเนินการส่งกันเองโดยไม่แจ้งผู้ที่ตามจ่ายก็อาจจะไม่ทราบ ดังนั้น หากมีคนสงสัยต้องแจ้งก่อน ยืนยันว่าหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่แจ้งใน 3 ชั่วโมง ไม่ได้ จะมีความผิด เมื่อแจ้งเจ้าพนักงานเสร็จก็จะพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายประสงค์จะตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้มีสิ่งเห็นชัด 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 เป็นการแบ่งเพื่อระยะการบริหารจัดการ ไม่ได้แบ่งให้ประชาชนแตกตื่น เนื่องจากสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทยที่ติดในประเทศแต่เป็นวงจำกัด เช่น กรณีของหลานที่ติดมาจากปู่ 2.พบว่า 2 ราย กลับมาจากประเทศพื้นที่มีความเสี่ยงคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดังนั้นควรเลี่ยง งด เลื่อนเดินทางในช่วงนี้ เพราะเป็นสิ่งที่มีโอกาสที่จะติดโรคกลับมาได้ 3.เมื่อเดินทางกลับมาแล้วจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ต่อให้ต่อให้ติดโรคมา ก็จะติดแค่เพียงผู้ป่วย ไม่ติดไปสู่ผู้อื่น 4.จะพบความแตกต่าง คือ คนบางส่วนที่มีอาการป่วยแล้วรีบพบแพทย์ แต่บางรายไม่มาเนื่องจากกลัวสังคมตีตรา 5.อย่าปกปิดข้อมูลกับแพทย์ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไม่เข้าใจและแตกตื่น ตีตรา ทำให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติจะกระทำการปกปิดข้อมูล ซึ่งเป็นผลเสียต่อบุคคลและคนรอบข้าง 6.สิ่งที่ต้องเน้นในบุคคล 2 กลุ่ม คือ บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งรัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ต้องยึดถือหลักปฏิบัติสากล (Universal decoration) ต่อให้พบผู้ป่วย ก็จะไม่มีปัญหาที่จะติดไปบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลคนรอบข้าง คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ที่ใกล้ชิด ก็จะต้องปฏิบัติการป้องกันตัวร่วมกับผู้ที่กลับจากต่างประเทศแล้วมีอาการป่วย ต้องร่วมกันทั้ง 2 ส่วน ก็จะลดการแพร่ระบาด เพื่อลดการเกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศ

“สธ.ไม่ได้ปกปิดข้อมูล แต่เป็นช่วงของระยะการป้องกันควบคุมโรคที่จะเป็นลักษณะเช่นนี้ เรามีคำแนะนำและมีการถือปฏิบัติต่อตัวบุคคล ต่อครอบครัว และสังคม เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดในสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าก็จะค่อยๆ ลดลงๆ และแม้เข้าสู่ระยะถัดไป สถานการณ์ก็จะไม่น่ากลัวแบบที่เราคิด แต่ถ้าเรายังคงไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไปในพื้นที่เสี่ยง กลับมาแล้วไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ คนร่วมข้างแสดงความรังเกียจ ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ควบคุมโรคไม่ได้ และเชื่อว่าทุกครั้งที่เกิดโรคเหล่านี้ เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส โรคไข้หวัด เราเกิดภาวะแบบนี้แต่ทุกครั้งคนไทยจะผ่านพ้นไปได้ เพราะคนไทยร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังสู้กับวิกฤตที่ใหญ่มาก โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันให้ก้าวข้ามวิกฤตไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนทุกคน กรมสุขภาพจิตจึงเสนอ 2 ข้อ คือ 1.บุคคลให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม หากเดินทางไปไหนมาควรจะแจ้งและเห็นแก่สังคม 2.สังคมสามัคคี ให้มองว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทย ให้ช่วยกันดูแล เช่น สอดส่องเพื่อนบ้านว่าควรทำอย่างไร ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน เพราะบางคนไม่ได้ตั้งใจปกปิด แต่เพียงไม่รู้ อาจจะไม่ได้ติดต่อที่ สธ.แต่เป็นการกักตัวเองอยู่ในบ้านและมีเพื่อนบ้านรอบข้างรับทราบ ก็จะเป็นการช่วยกันสอดส่องได้

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่10 กล่าวว่า ขณะนี้ยังเน้นย้ำว่าหากเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง หากคัดกรองแล้วไม่มีอาการป่วย ยังต้องดูแลเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน อยู่ที่บ้าน แต่หากมีภารกิจสำคัญ ให้ใช้วิจารญาณของตนเองให้ไปในที่ชุมชนให้น้อยที่สุด และ ข้อมูลล่าสุดที่รับทราบมาจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 80.9 มีอาการน้อย ซึ่งเหมือนกับโรคไข้หวัดที่เป็นแล้วหายไป ร้อยละ 13.8 ที่มีอาการมาก และ ร้อยละ 4.7 ที่เข้าขั้นวิกฤต ซึ่งจะเป็นการอธิบายได้ว่าเมื่อเป็นแล้วหายได้ เพื่อความสบายใจของประชาชน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงนี้ทางสถานทูตกรุงโตเกียวให้เลี่ยงรับประทานอาหารดิบ เช่น แซลมอน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เน้นย้ำให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากกระบวนการปรุงมีความสะอาด ก็สามารถกินได้ ขึ้นอยู่กับความมั่นใจและการปรุงอาหาร สธ.สามารถให้คำแนะนำ แต่ไม่ได้ห้าม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการแชร์ในโลกออนไลน์เรื่องราคารักษา การตรวจหาเชื้อไวรัสของแต่ละโรงพยาบาลนั้นเป็นข้อมูลของ สธ.หรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า หากรายใดเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ไม่มีอาการป่วย แต่จะไปตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองตามที่โรงพยาบาลแห่งนั้นกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการแชร์ราคาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีราคาแพง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแชร์กันเรื่องราคาการตรวจแล็บเพื่อยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้ออกมาจาก สธ. อย่างไรก็ตาม การตรวจแล็บโรคโควิด-19 มีเครือข่ายการตรวจที่ได้มาตรฐาน 7 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี รพ.ราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร รพ.บำรุงราษฎร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ส่วนโรงพยาบาลอื่น หรือ รพ.เอกชนต่างๆ อยู่ระหว่างการยื่นขอเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งจะมีการประเมินศักยภาพ มาตรฐาน ความชำนาญ ถ้าผ่านก็จะรับรองให้อยู่ในเครือข่ายต่อไป

“ขณะนี้มีการรับรอง 7 แห่ง ส่วนที่เหลือกำลังสมัครเข้ามา อยู่ในกระบวนการรับรอง ด้วยวิธีรับรองคือ 1.ผู้ตรวจมีศักยภาพหรือไม่ เช่น นักเทคนิกการแพทย์ 2.มีเครื่องมือในการตรวจหรือไม่ 3.ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน 4.ต้องผ่านทดสอบความชำนาญในการตรวจ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีสิ่งทดลองไปให้ตรวจ เพื่อให้ได้ผลออกมาตรงกัน และ 5.จะต้องเข้าระบบการควบคุมมาตรฐาน หากผ่านตามนี้ก็จะรับรองได้และอยู่ในเครือข่ายห้องปฏิบัติการ” นพ.โอภาส กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image