กทม.พร้อมปล่อยงบ “กองทุนบัตรทอง” ส่งเสริมสุขภาพคนกรุง หลังค้างท่อนาน 3 ปี 1.7 พันล.

กทม.พร้อมอนุมัติ “กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ” หลังสรรหาอนุกรรมการครบ 50 เขต เปิดทางประมาณค้างท่อนาน 3 ปี รวม 1.7 พันล้านบาท ใช้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพประชาชน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ระดับเขต ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคราชการ รวมทั้งสิ้น 50 เขต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเดินหน้าในการใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สำหรับกองทุนฯ ดังกล่าว เป็นการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หัวละ 45 บาทต่อประชากร ร่วมกับเงินสมทบจากกรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อนำมาใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน รวมงบประมาณปีละ 590 ล้านบาท ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 จนถึงปัจจุบันปี 2563 มีเงินในกองทุนรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 1.7 พันล้านบาท

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ความล่าช้าที่ทำให้เงินประสบภาวะค้างท่อที่ผ่านมา เป็นเพราะการใช้ระยะเวลาในการสรรหาคณะกรรมการฯ รวมถึงเรื่องของการออกกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ โดยกำหนดว่าสามารถนำเงินไปใช้อย่างไรได้บ้าง ซึ่ง กทม. เป็นหน่วยราชการที่มีขนาดใหญ่ การวางระบบกติกาจึงต้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ ป้องกันเงินรั่วไหล และไม่ทำให้เจ้าหน้าเสี่ยงติดคุก ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติในการเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณ จะต้องเป็นนิติบุคคล เช่น ชมรม มูลนิธิ สมาคม หรือกลุ่มบุคคลเกิน 5 คน ที่ กทม.ยอมรับ เช่น คณะกรรมการชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการของบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพของประชาชน โดยต้องสามารถนำเงินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นการใช้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือครุภัณฑ์

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

“ตัวโครงการจะถูกประเมินคณะอนุกรรมการในแต่ละเขต เพื่อพิจารณาอนุมัติงบโครงการละไม่เกิน 5 หมื่นบาท สามารถนำไปทำกิจกรรม เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ป้องกันอุบัติเหตุท้องถนน จ้างครูพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก หรือจัดหาผู้ดูแลผู้ป่วย (Care giver) ดูแลผู้สูงอายุติดเตียงตามบ้าน เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง ก็จะถูกส่งมาพิจารณาในคณะกรรมการระดับ กทม. ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน” นพ.พรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า เงินกองทุนฯ ยังสามารถนำมาใช้ได้ 2 รูปแบบ คือ หยุดยั้งการระบาดของภัยที่เป็นภาวะคุกคามด้านสุขภาพ หรือใช้เพื่อให้การดำเนินงานด้านสุขภาพในชุมชนมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งล่าสุดกองทุนฯ ได้ถูกเริ่มใช้ในช่วงของภาวะวิกฤต การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยนำมาจัดซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน

“ที่ผ่านมา งบประมาณของภาคราชการอาจใช้ไปตกหล่นบ้าง ไม่มีประสิทธิภาพบ้าง แต่หากนำมาส่งเสริมกิจกรรมที่ริเริ่มโดยชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง เงินทองก็จะไม่รั่วไหลและเกิดความยั่งยืน ซึ่งคาดหวังว่ากองทุนนี้จะทำให้ชาวบ้านได้มีงบประมาณ ที่จะนำมาดูแลสุขภาพตนเองได้โดยที่ไม่ต้องควักจ่ายเอง และหากทำได้ดีก็จะช่วยให้สถานการณ์โรคไม่ติดต่อ อุบัติเหตุ ภาวะติดเตียง หรือปัญหาต่างๆ เบาลง” นพ.พรเทพ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image