“โกรัน ทอมสัน” มิตรจากสวีเดน รำลึก “หมอสงวน” ผู้มีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า “ยูเอ็น” 40 ปี

การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 31 มกราคม -วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ประเทศไทย ถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการรวมตัวบรรดานักวิชาการชั้นนำจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยปีนี้จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Accelerating Progress Towards UHC หรือเร่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกประเทศทั่วโลกมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

หนึ่งในนักวิชาการคนสำคัญที่เข้าร่วมในเวทีนี้ คือ ศ.โกรัน ทอมสัน ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสถาบันปฏิรูประบบสุขภาพระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish Institute for Global Health Transformation) ชาวสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ ที่เข้า-ออก ประเทศไทย เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 40 ปี

งานนี้ โกรันไม่ได้มาเพื่อเสนอแนะการ ปฏิรูปŽ ระบบสุขภาพในบริบทโลก เพื่อให้ข้อเสนอแนะในเวทีวิชาการเท่านั้น แต่ยังมาเพื่อรำลึก สหายŽ ของเขา ที่ชื่อ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งปีนี้ครบรอบการเสียชีวิตปีที่ 12 พอดี และย้อนมองระบบสุขภาพของไทย ที่จะมาถึงวันที่ทั่วโลก ยกย่องŽ ไม่ได้เลย หากปราศจาก นพ.สงวน

Advertisement

โกรันบอกว่า เขาพบกับ นพ.สงวน ครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้น นพ.สงวนเริ่มสนใจเรื่องการปฏิรูประบบ สวัสดิการสังคมŽ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว

“สงวนในความทรงจำของผมคือ คนที่เป็นมิตร มีอารมณ์ขัน และมองการณ์ไกล ในเวลาที่อยู่ประเทศไทย เราพบปะกันเป็นประจำ โดยในขณะนั้น สวีเดนช่วยไทยทำโครงการ ประเมินผลเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพž ภายใต้ชื่อ TASSIT (Technology Assessment Social Security in Thailand) ซึ่งกลายเป็นองค์กรอย่าง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป ในปัจจุบันŽ โกรันเล่าย้อนอดีต

แน่นอน ในวันนั้น นพ.สงวนเริ่มพูดถึง วิสัยทัศน์Ž ของการเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทยแล้ว และนั่นคือราวปี 2534 นับ 10 ปี ก่อนที่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคŽ จะเกิดขึ้นจริง

“ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าเขา (สงวน) พูดถึงอะไร แล้วจะเป็นไปได้ไหม แต่เขาพาผมไปดูโครงการอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วพาไปพบทีมของเขาอย่าง คุณหมอวิโรจน์ (นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขระดับโลก) คุณหมอสมศักดิ์ (นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข) และได้พบกับ คุณหมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ผมก็พอเห็นภาพว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริง”Ž ศาสตราจารย์ชาวสวีเดน ระบุ

“การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการทำด้วยหลักการที่ถูกต้อง และด้วยคนที่ถูกคน ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี คือมีการทำงานวิชาการสนับสนุน และนำไปเสนอกับผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่าง นักการเมืองž หรือ รัฐบาลž อย่างถูกที่-ถูกเวลา และทำงานจากระดับล่างขึ้นบน ภายใต้ความร่วมมือที่ดีŽ

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ตัดทิ้งไม่ได้ ก็คือบุคลิกของ นพ.สงวนที่สามารถชักชวนทุกคน เข้ามาร่วม สังฆกรรมŽ ในนโยบายนี้ได้ ในความเห็นโกรัน หมอสงวนมีทั้งบารมี มีความกระตือรือร้น สามารถชักจูงใจคนอื่นให้เชื่อได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือเขายังมีความเป็นเด็ก เด็กซึ่งไม่เชื่อในความ เป็นไปไม่ได้Ž

“สงวนเป็นคนเรียบง่าย เขาไม่ได้คุยโว เขาไม่ได้พูดมากเกี่ยวกับทฤษฎี เขาก็แค่ลองทำมันไปเรื่อยๆ และทำมันทันที”Ž โกรันเล่าให้ฟัง

สิ่งต่อมาที่คนไทยรู้กันดี คือ 30 บาทรักษาทุกโรค จากมันสมองของหมอสงวน กลายเป็นนโยบาย พลิกแผ่นดินŽ จากคนไทยซึ่งตกหล่น เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุขหลายล้านคน ไปสู่การเข้ารักษาตัวในโรคที่ราคาแพงได้ ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มขั้น และกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้ทั่วโลกเห็นถึงความ เป็นไปได้Ž ว่าแม้แต่ประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เช่นกัน


“ที่น่าทึ่งก็คือ วิสัยทัศน์ของสงวน เรื่องการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น ล้ำกว่ายูเอ็น ล้ำกว่าองค์การอนามัยโลก หลายสิบปีŽ” ศาสตราจารย์ชาวสวีเดน เพื่อนรักของหมอสงวนระบุ

ถามถึงวิสัยทัศน์ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริงทั่วโลก ภายใน 10 ปีข้างหน้า โกรันยอมรับว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ง่ายŽ ขนาดนั้น เพราะมีหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างการสร้าง วิสัยทัศน์Ž ที่ชัดเจน และในแต่ละประเทศก็มีบริบทที่แตกต่าง ไม่สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพได้ง่ายขนาดนั้น


“เพราะระบบสุขภาพนั้น ซับซ้อนมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม การเงินการคลัง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไทย สามารถเป็นตัวอย่างสำคัญให้กับหลายประเทศในเอเชีย เช่น กัมพูชา ลาว หรือประเทศแอฟริกาอื่นๆ ในการเริ่มต้นระบบนี้ โดยเฉพาะการผสานหลายคน-หลายฝ่าย ให้ทำงานด้วยกัน ภายใต้งานวิชาการที่เข้มแข็ง”Ž โกรันกล่าว

ขณะเดียวกัน การสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ก็ต้องสร้าง ผู้นำŽ ที่มีวิสัยทัศน์ และสร้าง ทีมเวิร์กŽ ที่ดี โดยต้องรวมมืออาชีพทั้งในเรื่องระบบสุขภาพ ด้านการประสานงาน หรือด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในละตินอเมริกา หรือในแอฟริกา การสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ก็เกิดขึ้นภายใต้ทีมแบบนี้เช่นกัน

โกรันยกตัวอย่างว่า ไทยเองก็มีทีม คลังสมองŽ ด้านสุขภาพที่เข้มแข็งอย่าง กลุ่มสามพรานŽ ที่มี หมอประเวศŽ เป็นผู้นำ และมีคนอย่าง หมอสงวน หมอสุวิทย์ (นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) นพ.สมศักดิ์ หรือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา) รวมอยู่ในทีม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพอยู่ช่วงหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ส่วนสำคัญของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คือ การรวมมันสมองเข้าด้วยกัน สร้างทีมที่เข้มแข็ง และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ ที่จะพาระบบสุขภาพก้าวต่อไปข้างหน้า นำไปเสนอกับฝ่ายที่มี อำนาจตัดสินใจŽ อย่างรัฐสภา หรือนักการเมืองได้อย่างมีศิลปะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในความเห็นของโกรัน ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะยังมีความท้าทายอีกมากรออยู่


“ไม่ว่าจะระบบสุขภาพในยุโรป หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน คือ ค่าใช้จ่ายž ในระบบสุขภาพกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสังคมผู้สูงอายุ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยาใหม่ๆ ที่แพงขึ้น แต่จีดีพีกลับเติบโตน้อยกว่า หากไม่ทำอะไร หลายประเทศจะล้มละลายด้วยกันทั้งนั้นŽ” โกรันระบุ

เพราะฉะนั้น ในแวดวงนักวิชาการผู้สนใจด้านระบบสุขภาพทั่วโลกจึงหันหัวไปยังการสร้างระบบส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ซึ่งนับวันจะสูงขึ้นทุกทีจากจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เท่าที่ผมเห็นก็คือ ประเทศไทยสร้างระบบนี้อย่างแข็งแรง ตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน เรื่องกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องยาสูบ ไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานแล้ว หรือเรื่องส่งเสริมการออกกำลังกาย ไทยก็ทำมาก่อน เพราะฉะนั้น ความท้าทายก็คือ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อดึงคนไทยให้มาสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น”Ž โกรันกล่าว

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ไทย โฟกัสŽ ไปยังการผลิตหมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อลงไปยังพื้นที่ชนบท ลงไปยังชุมชนต่อไป เพื่อสร้าง การมีส่วนร่วมŽ กับคนในพื้นที่ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศไม่กี่ประเทศที่ให้นักศึกษาแพทย์จบใหม่ ต้องลงไปเรียนรู้งานในพื้นที่ชนบท

โกรันทิ้งท้ายว่า ระบบสุขภาพที่ดี ไม่ใช่เรื่องของการรักษาที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่คือการสนใจผู้ปฏิบัติงานทุกคน บุคลากรสาธารณสุขทุกคน และดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเดินไปข้างหน้าให้ได้ เพื่อสร้างสังคมที่ สุขภาพดีŽ ต่อไปในอนาคต

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image