สธ.ยันรอผลสรุปเหตุเหยื่อโควิด-19 ดับ เพิ่ม ‘เยอรมนี-ฝรั่งเศส’ พื้นที่เสี่ยงกลับมาต้องเฝ้าระวังอยู่บ้าน 14 วัน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.กล่าวระหว่างแถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พบว่าขณะนี้มีหลายประเทศที่มีความเสี่ยง และตามที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศไปแล้ว คือ 11 พื้นที่ 8 ประเทศ 3 เขตปกครองพิเศษ ที่เพิ่มขึ้นคือ ประเทศเยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดินทางกลับมาแล้วให้เฝ้าระวังตัวเอง 14 วัน และเพื่อให้การเฝ้าระวังคัดกรองการติดเชื้อในชุมชน มีความครอบคลุมมากขึ้น สธ.ได้ปรับนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค โดยขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังในการป่วยเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ จำนวน 5 คนขึ้นไป โดยพบผู้ป่วยในสถานที่แห่งเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน เป็นการยกระดับความไวในการตรวจจับการติดเชื้อในชุมชน ในส่วนการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หาสาเหตุไม่ได้ มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.สุขุมกล่าวว่า สธ.ได้ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการ รพ.ทั่วประเทศ ซักซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 เตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานระดับพื้นที่ ให้ทุกจังหวัดปรับใช้ขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม เพิ่มทักษะบุคลากรในระบบบัญชาการเหตุการณ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติการ โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1.ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในและช่องทางเข้าออก ระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด 2.ปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัย การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อใน รพ.กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กรมการแพทย์ และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานการปฏิบัติหน่วยบริการสาธารณสุขทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบูรณาการด้านการรักษา เพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด 3.บริหารจัดการทรัพยากรที่จำเป็น 18 รายการ ทั้งในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ ครอบคลุมทั้ง รพ.ภาครัฐและเอกชน หากมีความจำเป็นขาดแคลนอุปกรณ์ จะต้องประสานเพื่อทำข้อมูลและขอสนับสนุนกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้พร้อมใช้คุ้มค่า และความปลอดภัยสูงสุดของผู้ปฏิบัติงาน

นพ.สุขุมกล่าวว่า 4.กรณีประชาชนเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด และสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันของประชาชนจำนวนมาก ขอให้ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด 5.เน้นมาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัย การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคประชาชน 6.ประชุมและสั่งการในระดับจังหวัดและระดับเขตอย่างต่อเนื่อง ยกระดับการปฏิบัติงานโดยใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และเตรียมพร้อมกรณีหากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการแพร่กระจายในวงกว้าง ตั้งเป้าให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความเข้าใจและสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโต้สถานการณ์ จัดการอุปสรรค์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกกระทรวง

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อสงสัยใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 เรื่องสืบเนื่องที่ได้แถลงข่าวไปวันที่ 1 มีนาคม ในส่วนของผู้ป่วยรายที่เสียชีวิตไป ขณะนี้ผู้รับผิดชอบทั้งหมดได้มีการรวบรวมประมวลข้อมูล เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำนวน 8 คน ได้แก่ 1.ศ.เกียรติคุณ สมหวัง ด่านชัยวิจิต 2.ศ.วุฒิคุณ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ 3.รศ.(พิเศษ) ทวี โชติพิทยสุนนท์ 4.รศ.ประตาป สิงหศิวานนท์ 5.ผศ.กำธร มาลาธรรม 6.นายศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ 7.นายสมชาย พีระปกรณ์ และ 8.ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2562 โดยมีหน้าที่และอำนาจให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการประกาศพื้นที่เขตติดโรค และให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศโรคระบาด ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการ สธ.หรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศยกเลิก เมื่อสภาวการณ์ของโรคสงบลงหรือมีเหตุอันควร และปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า โดยปกติหากจะระบุว่าผู้ป่วยเป็นอะไร ผู้ที่สำคัญที่สุดคือแพทย์ผู้รักษาโรคโดยตรง และเมื่อมีผู้ป่วยเสียชีวิตจะนำข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นสาเหตุและรายละเอียดของการเสียชีวิตเป็นไปตามที่แถลงข่าว ไม่ได้มีการปกปิด มีการย้ำชัดเจนว่า จะต้องนำเข้าการพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประเด็นที่ 2 จากข้อมูลผู้ป่วยทุกรายจนถึงรายล่าสุดที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันรายที่ 37 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยถูกค้นหาภายใต้ระบบที่ได้ออกแบบไว้ว่า หากผู้ป่วยยืนยันรายหนึ่งแล้วจะต้องค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมดนำมาตรวจและเฝ้าระวัง ผู้ป่วยทุกรายจะมี 2 ลักษณะ คือ 1.เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศและตรวจจับได้ 2.มีการติดเชื้อภายในประเทศไทย แต่เป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยรายยืนยัน หรือนักท่องเที่ยวชาวจีน ย้ำว่าขณะนี้ยังเป็นการติดเชื้อลักษณะการติดเชื้อภายในประเทศในวงจำกัด (local transmission) ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 และมีการเตรียมความพร้อมในทุกจังหวัดก่อนเข้าสู่ระยะถัดไป ซึ่งไม่ได้หมายความจะมีการระบาด เนื่องจากเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าปัจจุบันมีการดูแลป้องกันรองรับได้ดีมากเพียงใด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงประกาศโรคติดต่ออันตรายที่ 14 ว่า เมื่อมีผลยังคับใช้ จึงมีประชาชนจำนวนมาก ทำการแจ้งข้อมูลตามมาตรา31 คือ เจ้าบ้าน/เจ้าของสถานที่ หากพบผู้ต้องสงสัยให้แจ้งแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรค จึงอยากขอขอบคุณที่ได้แจ้ง แต่อยากฝากว่า คนเหล่านั้นคือผู้ที่ต้องสงสัย หากพบ ให้ช่วยกันแจ้ง แต่สังคมอย่าตีตรา การแจ้งเร็วเป็นเรื่องดี และให้ทำการแจ้งกับเจ้าพนักงาน ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขในพื้นที่

Advertisement

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า เรื่องสืบเนื่องอีกเรื่องคือกระบวนของการบอกสาเหตุถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้เป็นเรื่องของคำตอบที่เร่งด่วนในช่วงเวลานี้ เนื่องจากผู้สูญเสียก็ได้เสียไปแล้ว จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ แต่หากข้อสรุปชัดเจนและเป็นทางการจริงๆ ไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ การรายงานบอกทั้งหมดรวมถึงสาเหตุของการเสียชีวิต และยังไม่ได้ระบุว่าไข้เลือดออก หรือการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต โดยจะต้องผ่านการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อให้คำตอบ เน้นย้ำว่า สธ.ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หากจะเกิดจากโรคใด สธ.มีหน้าที่ต้องตั้งรับกันต่อไป จึงไม่ได้จะต้องรีบด่วนสรุปขึ้นมาเพื่อปิดข่าวแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มี รพ.เอกชนประมาณ 250 แห่ง ที่ส่งหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ว่ามีความขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ ทาง สธ.มีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นพ.สุขุมกล่าวว่า มีการสำรวจใน รพ.ภาครัฐ ทั้งในและนอกสังกัดของ สธ.รวมไปถึง รพ.เอกชน แล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และให้แจ้งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือผู้ตรวจราชการฯ เพื่อให้ทราบความต้องการ และนำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอจัดสรร สธ.ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัย เพียงแต่จะสำรวจความต้องการและในระยะแรกมีการสำรวจ รพ.ในสังกัด สธ.ที่มีการสั่งซื้อมาไว้ล่วงหน้าว่า รพ.ไหนมีสำรองไว้จำนวนมากและมีผู้ป่วยน้อยหรือไม่ใช่เขตที่มีการระบาด

“จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมากในเขตสุขภาพที่ 6 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และให้มีการเกลี่ยเฉลี่ยทัรพยากรออกมา จึงคิดว่าการขาดแคลนคงไม่มี เนื่องจาก 1.มีการสำรวจความจำเป็นในบุคลากรทางสาธารณสุขและพยายามไม่ให้ขาดแคลน 2.หากประชาชนพบอาการป่วย หรือเมื่อกลับมาจากประเทศเสี่ยง ให้แจ้งที่เบอร์สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อให้รถไปรับ เป็นการป้องกันและลดจำนวนการสัมผัสผู้อื่นรวมถึงการสัมผัสในบุคลากรอีกด้วย” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

เมื่อถามว่าในผู้ป่วยรายที่เสียชีวิต มีการตรวจสอบไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสั้น และเมื่อแรกรับมาจากการส่งต่อจาก รพ.เอกชน เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมทั้งได้ค้นหาผู้สัมผัส พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.เอกชนแห่งนั้น ซึ่งป่วยแต่รักษาจนหายและออกจาก รพ.แล้ว ส่วนผู้ใกล้ชิดในครอบครัวมี 1 รายเป็นลูก ได้รับการรักษาจนหายดีและให้กลับบ้านแล้ว และรายอื่นๆได้มีการติดตาม เฝ้าดูจนครบ 14 วันแล้ว ดังนั้นคนที่เหลือก็คือไม่ได้ป่วย

เมื่อถามว่า นายอนุทินได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการสั่งยาจากประเทศจีนมาเพิ่มอีกนั้นเพียงพอหรือไม่และประเทศจีนเองจะอนุญาตให้ส่งเข้ามาในประเทศไทยหรือไหม นพ.สุขุมกล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกยังไม่ทราบว่าจะรักษาได้ด้วยยาใด การที่ตื่นตัวเรื่องนี้ก็ได้พัฒนาองค์ความรู้ เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ อย่างเช่น การใช้เทคนิคยา รพ.ราชวิถี ไปจนถึงค้นพบกลุ่มยาต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ส่วนยาจากประเทศจีนได้ประสานทางการทูตและสั่งซื้อยา ซึ่งประเทศจีนก็มีความต้องการใช้ แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีความใกล้ชิด ประเทศจีนให้สั่งซื้อได้ ในช่วงเช้าของวันนี้ได้รับเพิ่ม 2,000 เม็ดที่รับมอบจากประเทศจีน การรักษามีขอบ่งชี้ให้ใช้ตามแนวทางปฏิบัติ อย่างเช่น ฟ้าทลายโจร ที่ สธ.นำมาพัฒนา มีแนวโน้มว่าจะได้ผลดีในการฆ่าเชื้อไวรัส ขณะนี้ยังรักษาไม่ได้แต่มีผลให้ร่างกายสุขภาพดีขึ้น ผลการศึกษาจะออกให้เป็นผลลัพธ์ใน 1-3 เดือน และการพัฒนาวัคซีนที่จะมีผลลัพธ์ใน 6 เดือน-1 ปี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image