สธ.เผย ไทยติดเชื้อลำดับที่ 15 ของโลก โควิด-19 ลามเข้ายุโรป-แอฟฟริกาแล้ว

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีการแพทย์ แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

นพ.โอภาส กล่าวว่า วันนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย ไม่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ และผู้ป่วยวิกฤต อายุ 70 ปี ขณะนี้ไม่พบเชื้อของโรคไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว แต่ยังต้องรักษาอาการของวัณโรคและภาวะแทรกซ้อน อาการยังทรงตัว ขณะนี้ประเทศที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสม อยู่ในลำดับที่ 15 และสถานการณ์ทั่วโลกที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย คือ บาห์เรน 47 ราย คูเวต 56 ราย หากดูจำนวนประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในรอบ 1 วัน คือ 1.เกาหลีใต้ 599 ราย 2.อิหร่าน 523 ราย 3.อิตาลี 342 ราย และ 4.จีน 198 ราย ข้อสังเกตคือ ประเทศทางทวีปยุโรปมีผู้ป่วยมากขึ้นในรอบ 1 วัน เช่น เยอรมนี จำนวน 40 ราย สเปน 44 ราย ฝรั่งเศส 26 ราย พบว่าสถานการณ์ขณะนี้การระบาดอยู่นอกประเทศจีน โดยเฉพาะทวีปฝั่งยุโรปที่มีแนวเพิ่มมากขึ้น และมีรายงานประเทศใหม่ๆ คือ ประเทศในแถบทวีปแอฟฟริกา ส่วนพื้นที่ที่กรมควบคุมโรคประกาศว่ามีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และควรหลักเลี่ยงเดินทางไปขณะนี้มี 8 ประเทศ และ 3 เขตปกครองพิเศษ คือ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส และเยอรมนี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ได้ออกประกาศกระทรวง ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ใช้เรียกว่า ซาร์ส (sars-cov2) เนื่องจากเป็นเชื้อตระกูลเดียวกัน และมีความใกล้เคียงกัน ต่างกันที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส แต่มีการแพร่ระบาดติดต่อง่ายได้มากกว่า ให้เป็นเชื้อโรคที่ต้องควบคุมตามมาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 กำหนดให้เป็นเชื้อโรคควบคุมในกลุ่มที่ 3 หากผู้ใดต้องการครอบครอง ต้องขออนุญาตเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เชื้อโรคฯ และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยกฎหมายมีเจตนารมณ์ เพื่อควบคุมเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ หากจะนำไปพัฒนาวิจัย ครอบครอง ผลิต จำหน่ายทางห้องปฏิบัติการจะต้องแจ้งการอนุญาต โดยสามารถแบ่งเชื้อเป็น กลุ่มที่ 1 เชื้อทั่วไป ไม่ต้องแจ้ง อันตรายต่ำ ไม่ติดในคน กลุ่มที่ 2 เชื้อความรุนแรงระดับ 2 เช่น เชื้อแบคทีเรียทั่วไป จะต้องแจ้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่ามีครอบครอง กลุ่มที่ 3 เชื้อความรุนแรงระดับ 3 ต้องขออนุญาตแจ้งกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น เชื้อซาร์ส เชื้อเมอร์ส และเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยและไม่ได้รับการกักตัวนั้น อธิบายได้ คือ 1.ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค คือผู้ที่มีอาการป่วยและต้องจะเข้าไปอยู่ใน รพ.ในห้องความดันลบ เนื่องจากเป็นผู้ป่วย มีความเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัส เพื่อสอบสวนว่าเป็นโรคหรือไม่ ถ้าเป็นก็จะยืนยันและประกาศต่อไป แต่ถ้าไม่ใช่อาการป่วยของโรคไวรัสชนิดนี้ก็รักษาโรคอื่น โดยขณะนี้มีผู้เข้าข่ายการสอบสวนเฉลี่ยวันละ 300 ราย เนื่องจากมาตรการที่ค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น 2.ผู้สัมผัสกับผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค เนื่องจากไม่ใช่ผู้ป่วย ไม่มีอาการ แนะนำให้กักกันตัวเองอยู่บ้าน 14 วัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ติดตามอาการทุกวัน หากพบอาการป้วยคนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค และต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสอนโรค 3.ผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ได้มีอาการป่วย แต่มีความเสี่ยงในการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ขอให้ลดกิจกรรมทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่พัก หมั่นล้างมือ อย่าไปในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ให้สังเกตอาการตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ พบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติเดินทาง 4.ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image