สธ.มึนจัดการ “ผีน้อย” ย้ำยังต้องคัดกรองตามระบบ กรณีติดเชื้อมีสถานที่รองรับแล้ว

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ หรือ ผีน้อย ที่มีรายงานข่าวว่าจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยประชาชนมีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า กรณีผีน้อย สธ.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น 1.กระทรวงการต่างประเทศ ในข้อมูลว่ามีกี่คน อยู่เมืองใด หากได้ชื่อก็จะยิ่งเป็นผลดี 2.กระทรวงคมนาคม มีช่องทางเดินทางง่ายที่สุดคือเครื่องบิน แต่ไม่ละเลยทางเรือ 3.กระทรวงแรงงาน ถึงแม้จะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่ฐานะคนไทยก็จะต้องดูแลกัน 4.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากได้ข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ ก็จะนำมาประสานกับ ตม. เพื่อตรวจสอบคัดกรองที่ด่าน 5.ฝ่ายความมั่นคง หากจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ต้องอาศัยกำลังคนมากๆ ก็ต้องใช้กำลังทหารเข้ามาช่วย

นพ.โอภาส กล่าวว่า นโยบายของ สธ. โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ได้สั่งการผ่านการประชุมศูนย์สั่งการเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 มีนาคม กำหนดนโยบายให้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยในประเทศมากที่สุด มาตรการต่างๆ จะใช้หลักการใกล้เคียงกับการคัดกรองโรค คือ ถ้าพบผู้ที่มีเกณฑ์เข้าข่ายการสอบสวนโรค ก็จะนำส่งไป รพ. แต่ถ้าไม่พบอาการก็จะต้องติดตามต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ข้อมูลจำนวนผู้เดินทางไม่ชัดเจน บางรายงานกล่าวว่ามีจำนวนสูงถึง 100,000-150,000 คน เพราะหากได้รายชื่อแล้วจะเป็นประโยชน์มนการดำเนินการของ สธ.อย่างสูงที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.มีการติดตามอย่างไรกับกลุ่มแรงงานผีน้อยที่กลับมาแล้วประมาณ 1,000 คนเศษ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานข้อมูลกับ ตม. และกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน แต่หากผู้ที่เข้ามาแล้วและมีรายชื่อ ก็จะติดตามค้นหาตัว จะต้องรอข้อสรุปในรายละเอียดต่อไป

เมื่อถามว่า กลุ่มผีน้อยที่เดินทางกลับมาแล้ว ควรจะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า สิ่งนี้จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย หากประชาชนทั่วไปพบข้อมูลก็สามารถแจ้งมาที่ 1422 ว่ามีกลุ่มแรงงานผีน้อยในระแวกบ้านหรือไม่ แต่อย่ารังเกียจกันและข้อมูลที่แจ้งจะเก็บเป็นความลับ หากคนกลุ่มนี้กลับมาแล้วและทำการแจ้ง สธ.เพื่อให้ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ประชาชนทั่วไปเองก็อย่าไปรังเกียจคนกลุ่มนี้ เพราะหากรังเกียจกันมากขึ้นก็จะเกิดการปกปิดข้อมูลมากขึ้น

Advertisement

เมื่อถามว่ากลุ่มแรงงานผีน้อยจำนวนมาก ถือว่าเป็นความเสี่ยงล่าสุดของประเทศไทยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีนี้คล้ายกับหลายกรณี เช่น กรณีเรือไดมอนปริ้นท์เซส เรือเวสเตอร์ดัม

“เทียบกันได้คือแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรก็เป็นคนไทย จะไม่ให้เข้าก็เป็นเรื่องที่พูดยาก อย่างไรก็ต้องให้กลับเข้ามาอย่างปลอดภัยทั้งกับตัวแรงงานเองและผู้อื่น หากได้ข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ มีความแม่นยำก็จะทำให้ สธ.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ข้อมูลจากประชาชนก็มีความสำคัญเป็นลำดับ 2 ที่จะนำมาพิจารณา จึงขอเน้นย้ำว่าหารกลุ่มแรงงานผีน้อยเดินทางกลับมาแล้วให้แจ้งมาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้สะดวก” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

เมื่อถามว่าปัญหาส่วนใหญ่คือกลุ่มแรงงานเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะต้องมีบทบาทอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า อสม.ถือเป็นกำลังหลักของ สธ. โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดึงเอา อสม.มาเป็นกำลังเฝ้าระวังป้องกันโรคเป็นนโยบาย อสม.เคาะประตูบ้าน ดังนั้นหากมีรายชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนอยู่ที่ไหน สามารถใช้ อสม.ช่วยติดตามได้ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

เมื่อถามว่าหากมีจำนวนกลุ่มแรงงานผีน้อยจำนวนมาก มีแนวโน้มอย่างไร เช่น การกักกันตัวเอง 14 วัน หรือทาง สธ.จะเป็นผู้ดูแลเอง นพ.โอภาส กล่าวว่า จะต้องดำเนินการคือ 1.ต้องดูข้อมูลที่ชัดเจน 2.จำแนกกลุ่ม เช่น หากเป็นไข้ ก็จะเข้าระบบการรักษาไปที่ รพ. ซึ่งทาง สธ.ได้เตรียมความพร้อมรองรับแล้ว และถ้าเข้ามาไม่มีไข้ ต้องกักกัน ต้องดูว่ามาจากเมืองไหน เพราะเกาหลีใต้ไม่ได้ระบาดทั้งประเทศ ต้องดูเป็นรายคน เบื้องต้นจะต้องมีการคัดกรองอาการป่วยและประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้ สธ. ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงได้เตรียมพร้อมสถานที่รองรับไว้แล้วซึ่งเป็นมาตรการต่อไป อยากให้ประชาชนมั่นใจว่าความปลอดภัยของประชาชนคนไทยมาอันดับที่ 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image