สธ.ย้ำเมิน กม.คุมเข้ม ‘จีน เกาหลีใต้ มาเก๊า ฮ่องกง อิตาลี อิหร่าน’ โทษปรับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศ สธ. เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 พ.ศ.2563 ให้ 4 ประเทศและ 2 เขตปกครองพิเศษ 1.สาธารณรัฐเกาหลี 2.สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง มาเก๊า ฮ่องกง 3.สาธารณรัฐอิตาลี และ 4.สาธารณรัฐอิหร่าน เป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ว่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีผู้ป่วยเกิน 1,000 ราย และมีอัตราเพิ่มของผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 300-400 ต่อวัน มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่ออันตรายสูง และอีกกลุ่มคือ ประเทศที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยพอประมาณตามที่ประกาศของกรมควบคุมโรค 9 พื้นที่ ได้แก่ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศสและเยอรมนี หากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้จะต้องสังเกตตนเอง นอกจากนี้มีอีก 4 ประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในรอบวันเกิน 50 ราย ได้แก่ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา หากจะต้องเดินทางไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมชน และในช่วง 14 วันที่กลับมาจากประเทศเหล่านี้หากมีอาการไข้ ไอ หรืออาการระบบทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์ หรือโทรมาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

นพ.สุขุม กล่าวว่า ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่จะประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ โดยพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์การระบาด เช่น จำนวนผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ จะช่วยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันควบคุมโรคกับผู้เดินทางซึ่งมาจากเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและความรวดเร็ว เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นต้น มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที เช่น นำผู้สงสัยว่าป่วย มารับการตรวจ แยกกัก หรือกักกัน ในสถานที่ที่กำหนด ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค แต่ไม่ยอมแจ้งหรือไม่แจ้งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

ทั้งนี้ นพ.สุขุม กล่าวว่า ในส่วนการดูแลแรงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีนั้น สธ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งมาตรการรองรับแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าว ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลแรงงานไทยกลุ่มนี้ และสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 1.คัดกรองที่ท่าอากาศยาน (Entry Screening) หากผู้เดินทางมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซสเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาตามระบบ กรณีตรวจไม่พบไข้ หากเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศเกาหลีใต้ คือ เมืองแทกูและคยองยังเหนือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคคิดต่อประจำด่านควบคุมโรค จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม นำตัวเข้ารับการกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่นในประเทศเกาหลีใต้ จะส่งไปยังสถานที่หรือพื้นที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.การนำตัวผู้เดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมโรครวมถึงการกำหนดพื้นที่ควบคุมโรคหรือสถานที่หรือพื้นที่ที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สธ.ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด 3.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต้องไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ สธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.สุขุม กล่าวว่า บริษัท ซีพีเอฟ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ได้ร่วมสนับสนุน การกักกันตนเอง (self quarantine) ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยการเปิดให้ลงทะเบียนและจะมีอาการส่งให้ฟรีวันละ 3 มื้อทุก 3 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนกว่า 500 รายแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เดินทางกลับมามีความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนกรณีหน้ากากอนามัยที่มีรายงานข่าวว่าขาดแคลนในโรงพยาบาล นพ.สุขุม กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีจำนวนที่เก็บไว้ใช้เหลือประมาณได้ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จึงต้องยอมรับว่าในภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ ดังนั้นจำนวนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลจึงต้องใช้สอยอย่างประหยัด แต่เป้าหมายคือจะต้องมีสำรองในโรงพยาบาลของสังกัด สธ.อย่างน้อย 1 เดือน จากการประสานพบว่าโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพมหานครและเอกชน ทาง สธ.ได้รับมาดำเนินการเอง เดิมได้รับโควตาประมาณ 100,000-150,000 ชิ้น ขณะนี้ขอปรับยอดตามความต้องการ เบื้องต้นให้ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เกลี่ยเฉลี่ยภายในเขตสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ให้มีความเพียงพอ ซึ่งในขณะนี้ยังมีใช้อยู่แต่ส่วนที่สำรองไว้อาจจะลดลง เราจึงจะต้องเตรียมสนับสนุนส่งไปให้ เนื่องจาก สธ.ได้ขอเพิ่มจากกระทรวงพาณิชย์ จากเดิม 100,000 ชิ้น เป็น 700,000 ชิ้น และจะนำไปกระจายให้โรงพยาบาลเอกชนและสังกัดมหาวิทยาลัย และส่วนของชุดป้องกัน PPE และหน้ากาก N95 ก็จะต้องให้เตรียมไว้อย่างเพียงพอ สธ.ได้สั่งมาจากต่างประเทศจำนวน 400,000 ชุด โดยรอบแรกจะเข้ามาแล้วประมาณ 40,000 ชุดอยู่ในระหว่างการกระจายออกไป และเดือนถัดไปจะเข้ามาเพิ่ม 200,000 ชุด เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้แบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ 1 คือ 4 ประเทศ ที่ประกาศให้ 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ 1.เกาหลี 2.จีน รวมถึง มาเก๊า ฮ่องกง 3.อิตาลี และ 4.อิหร่าน เป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร จะใช้วิธีการควบคุมที่แบ่งเป็น แรงงานนอกระบบซึ่งเดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ จะต้องป้องกันอย่างเต็มที่ที่สุด ส่วนของนักเดินทางชาวต่างชาติ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะรับมากักกันอย่างเช่นคนไทยที่เป็นแรงงานนอกระบบ แต่สิ่งที่กำลังจะมีการดำเนินการคือ การออกกฎให้ ทุกคนที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศ นี้ให้รายงานสภาวะสุขภาพในทุกวัน เป็นการบังคับไม่ใช่ความสมัครใจ หากไม่ปฏิบัติการหรือการปฏิบัติการไม่ถูกต้อง ก็จะมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานได้ ซึ่งจะมีบทลงโทษ กลุ่มที่ 2 คือ ประเทศที่อยู่ในรายการที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว คือในอีก 5 ประเทศ คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี และ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่กำลังพิจารณาเพิ่ม โดยการพิจารณาจะต้องใช้เกณฑ์ที่ชัดเจน ในเรื่องของจำนวนผู้ป่วย และจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวต่างชาติจาก 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ ที่เข้ามาประเทศไทยแต่ไม่มีอาการป่วย จะต้องทำการกักกันตัวเอง 14 วันหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า แนะนำให้ใช้การกักกันตนเอง 14 วัน อยู่บ้านและดูแลตนเอง แต่หากไม่ปฏิบัติตามและมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร สธ.จะดำเนินการโดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เข้าไปดำเนินการเชิญตัวมาเข้าที่กักกันที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่สามารถดำเนินการได้ โดยในขณะนี้แต่ละจังหวัดมีการกำหนดไว้แล้ว แต่หากเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก 2 เมืองระบาดคือ เมืองแทกู คยองยังเหนือ ในประเทศเกาหลีใต้ สธ.ได้ดำเนินการเตรียมสถานที่อยู่ กฎหมายนี้เริ่มใช้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบในประเทศเกาหลีใต้ก่อน ซึ่งดำเนินการอย่าง 100%

เมื่อถามว่ามาตรการสำหรับผู้เดินทางมาจาก 4 ประเทศและ 9 ประเทศที่ทาง สธ.แนะนำว่าให้เลี่ยงการเดินทาง รวมถึง 2 เมืองในประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นพื้นที่ระบาด มีคำแนะนำที่ต่างกันอย่างไร นพ.สุขุม กล่าวว่า คำแนะนำต่างกัน คือ 1.หากเดินทางมาจากประเทศเกาหลีใต้ใน 2 เมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และเป็นแรงงานนอกระบบ ก็จะต้องอยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ เช่น พื้นที่ของหน่วยทหาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยจะต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นไปตามระเบียบของ สธ.ในการควบคุมโรค หากมีอาการป่วยก็จะส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 2.หากเป็นแรงงานนอกระบบที่เดินทางมากจากประเทศเกาหลีใต้แต่ไม่ได้มาจาก 2 เมืองที่มีการแพร่ระบาด ก็จะต้องให้ไปพำนักที่ภูมิลำเนาของตนเองโดยเป็นสถานที่เฉพาะ แต่ไม่ให้กลับบ้าน อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ของ สธ.และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขณะนี้กำหนดให้ 9 ประเทศ คือ 1.จีน รวมถึงฮ่องกง และมาเก๊า 2.ไต้หวัน 3.เกาหลีใต้ 4.ญี่ปุ่น 5.สิงคโปร์ 6.อิตาลี 7.อิหร่าน 8.ฝรั่งเศส 9.เยอรมนี บวกอีก 4 ประเทศ คือ 1.สเปน 2.สวิตเซอร์แลนด์ 3.เนเธอร์แลนด์ 4.สหรัฐอเมริกา จะต้องมีการดูแลตนเอง แต่หากเป็นผู้ที่อยู่ใน 4 ประเทศที่มีการระบาดรุนแรง คือ จีน รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี จะต้องใช้กฎหมายในการเชิญตัวมากักกันได้ หากมีการฝ่าฝืน

“ทิศทางผู้ป่วยในไทย 6 รายหลังเป็นรายที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเหมือนการย้อนกลับไปในการระบาดระยะที่ 1 ใหม่ ที่มีแต่ผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว และหากมีการควบคุมดีๆ ก็อาจจะกลับมาไม่มีผู้ป่วยได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ของกลุ่มแรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้เป็นอย่างไร หากครบการกักกัน 14 วัน ก็จะไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยได้” นพ.สุขุม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image