“ผีน้อย” เข้าระบบเฝ้าระวัง “โควิด-19” แล้ว 186 คน สธ.ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า วันนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาลยังคงอยู่ที่ 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 50 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีแรงงานไทยนอกระบบ หรือ ผีน้อย จากประเทศเกาหลีใต้ ขณะนี้รับไว้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จำนวน 186 คน เป็นผู้ชาย 88 คน ผู้หญิง 98 คน มีกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ 18 คน คือหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มเสี่ยงสูง 8 คน ที่มาจากเมืองแทกู และเมืองคยองซังเหนือ ทุกคนได้รับการตรวจสุภาพ อาการปกติ ไม่มีไข้ ทั้งนี้ สธ.ได้ร่วมกับกองทัพเรือจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพ มีการตรวจวัดไข้สอบถามอาการทุกวัน และให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตที่ 6 ร่วมดำเนินการ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

“สำหรับการดูแลผู้เดินทางจากเกาหลีใต้นั้น เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ คมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น โดยจะมีการจัดกลุ่มผู้เดินทางเป็น 3 กลุ่ม คือ ชาวต่างชาติ ผู้เดินทางคนไทย และกลุ่มแรงงาน เมื่อมาถึงประเทศไทยจะมีจุดจอด และพื้นที่คัดแยกที่จำเพาะ หากพบว่ามีไข้ จะนำส่งโรงพยาบาลตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ หากพบวีซ่าการเดินทางหมดอายุ จะจัดรถเพื่อนำไปส่งยังพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด หากเป็นผู้เดินทางอื่นๆ จะถูกส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรค (Local Quarantine) ใกล้ภูมิลำเนา ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมไว้ โดยจะมีระบบเฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ 14 วัน ในส่วนการติดตามผู้สัมผัสกับนักศึกษาชายไทยจากอิหร่าน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 157 ราย ได้ดำเนินการติดตามตัว เฝ้าสังเกตอาการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) โดยมีบางคนเดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว ส่วนที่อยู่ในประเทศไทยทีมสอบสวนโรคได้ตามตัวเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการว่าติดเชื้อหรือไม่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังของ สธ.ว่า ขณะนี้มีอยู่ 3 จุด คือ 1.การคัดกรองที่สนามบิน 2.การเฝ้าระวังในชุมชน 3.การเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการคัดกรองผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในชุมชนและที่อยู่ในโรงพยาบาลได้ค่อนข้างรวดเร็ว ขณะนี้ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคมีประมาณ 4,518 กว่าราย ในจำนวนนี้ติดเชื้อประมาณ 50 ราย ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ทุกๆ 100 รายจะติดเชื้อประมาณ 1 รายเท่านั้น ทั้งที่ในผู้ป่วยที่มีอาการป่วยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จะเป็นผู้ป่วยไวรัสโคโรนา2019 ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยไข้หวัดตามฤดูกาล การติดเชื้อโรคทางเดินหายใจอื่นที่ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายคลึงกัน ดังนั้นการรับทราบข่าวสาร ควรนำมาเป็นหลักในการใช้ชีวิตดีกว่า เช่น 1.หากเราเลี่ยงได้ไม่ควรไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด 2.หากจำเป็นต้องไป จะต้องเตรียมหน้ากากผ้าไป หลีกใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย ล้างมือบ่อยๆ 3.รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง หากตักข้าวมาแล้วให้ล้างมือก่อนรับประทาน

“ในการจัดการกับโรคนี้ หรือ การลดการแพร่โรคนี้จะมีคน 2 กลุ่มใหญ่ ที่จะต้องช่วยกัน คือ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมได้ดี ป้องกันการแพร่เชื้อ แต่คนที่จะต้องหยุดมันคือ กลุ่มคนไทยทุกคน ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชนไปจนถึงสังคม รวมถึงสถานที่ทำงาน ร้านค้า โรงงาน ทุกภาคจะต้องร่วมมือกัน ในสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ถ้าเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สังคมก็จะสงบ ไม่ตื่นตกใจไปมากกว่านี้ ไม่เอาข่าวลวง ข่าวหลอนมาหลอนตัวเอง หรือกลัวไปอย่างไม่มีเหตุมีผลไปหมด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล ขั้นตอนการจัดสรรจะต้องผ่านกระบวนการอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาจัดสรรหน้ากากอนามัยส่วนหนึ่งให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่ง อภ.มีหน้าที่จัดสรรให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งในส่วนของ รพ.ในภาครัฐมีหลักเกณฑ์ กระจายลงสู่ รพ.ในพื้นที่ต่างๆ โดยได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการของแต่ละเขตสุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ว่ารพ.ไหนขาดมากหรือน้อย เพิ่มดูความจำเป็นและเติมทรัพยากรเข้าไป ส่วนใน รพ.ภาคเอกชนและสถานพยาบาลของรัฐอื่นๆ ทาง สธ.และ อภ. มีมาตรการให้จัดสรรได้อย่างเพียงพอ

เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม มีการรายงานว่ามีเรือเทียบท่าที่เหมือนกรณีเวสเตอร์ดัม เข้ามาเทียบท่าที่เกาะภูเก็ต ขณะนี้ สธ.มีมาตรการสำหรับเรือท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่แล้วจะไม่ให้มาเทียบท่าที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าว ในส่วนของการพิจารณาไม่ได้กำหนดห้ามเรือทุกลำเทียบท่า แต่ขณะนี้มีการประกาศเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่มีอำนาจ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่หน้าด่านจะมีดุลยพินิจว่า ตามแผนการดำเนินงานถ้าเรือมาจากพื้นที่เสี่ยงและไม่ทราบว่าสถานการณ์บนเรือเป็นอย่างไร เจ้าพนักงานก็สามรถตัดสินใจได้ว่า ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงจากเรือ รวมถึงหลักการว่าหากมีการลงมาจากเรือ ทาง สธ.ขอว่าถ้ามาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง จะใช้มาตรการ 2 มาตรการ คือ 1.ให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนรายงานตัวทุกวัน 2.ขอให้กักกันตน (self quarantine) เอง 14 วัน ซึ่งโดยทั่วไปนักท่องเที่ยวทราบก็คงไม่ลงมาจากเรือเช่นกัน

เมื่อถามอีกว่ากลุ่มแรงงานไทยนอกระบบที่ไม่ได้เข้าทำการคัดกรองที่ด่าน จำนวน 80 คนและได้เดินทางออกไปโดยใช้รถสาธารณะ สธ.ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ และจะมีการแพร่กระจายเชื้อไปอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ที่จะแพร่เชื้อได้คือผู้ที่มีอาการเป็นหลัก สิ่งที่ สธ.กำลังดำเนินการกับแรงงานกลุ่มนี้ ไม่ได้แปลว่าคนที่กลับมาจากประเทศเกาหลี หรือแรงงานกลุ่มนี้ป่วย แต่สิ่งที่ดำเนินการไปเพื่อเป็นการลดภาระครอบครัวของแรงงานเอง หากเขายังไม่มีอาการป่วยตามหลักการก็จะไม่สามารถแพร่โรคได้ ผู้สัมผัสกับเขาไม่ว่าจะที่ไหนก็ไม่ต้องกังวล เราจะเริ่มนับว่าผู้ใดผู้หนึ่งไปแพร่โรค ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกหรือหายใจลำบาก ก่อนที่เขาเหล่านี้จะออกมาสนามบินได้มีการคัดกรองอย่างดีแล้วว่าไม่ป่วย แต่ที่ต้องรับไว้ 14 วันเพื่อสังเกตอาการ เผื่อว่า หากในช่วง 14 วันหากเขากลับไปอยู่ที่บ้านแล้วมีอาการป่วยอยู่ที่บ้าน ก็อาจจะแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวได้ แต่การนำมาดูแลของภาครัฐ ให้มีการห้องแยกโดยทั่วไป 1 ห้องจะจัดให้อยู่ 1 คน เมื่อมีอาการป่วยขึ้นมาก็ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เป็นมาตรการเพื่อป้องกัน และคนที่ตั้งใจป้องกันมากที่สุดคือบุคคลในครอบครัวของแรงงาน ดังนั้นไม่ต้องกังวล

เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่ประเทศออสเตรเลีย มีประวัติการเดินทางกลับจากประเทศไทย ขณะนี้มีข้อมูลของผู้ป่วยอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า รายนี้เท่าที่ทราบคือ มีผู้สัมผัส 1 ราย และผู้สัมผัสมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทย

ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น. มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – วันที่ 8 มีนาคม 2563 สะสมทั้งหมด 4,518 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 212 ราย ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 4,306 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,729 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,789 รายขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกใน 102 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – วันที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 07.00 น. พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 107,862 ราย เสียชีวิต 3,664 ราย ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน พบผู้ป่วย 80,703 ราย เสียชีวิต 3,098 ราย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image