ยาต้านไวรัส ‘โควิด-19’ มีพอ! สธ.ยันสำรองรักษาผู้ป่วยได้กว่า 1,000 ราย เผยจีนพร้อมหนุนทรัพยากร

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ในการรักษาผู้ป่วยจะมีคณะทำงานดูแลหลักเกณฑ์แนวทางการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมีตั้งแต่อาการน้อยไป อาการมาก ไปจนถึงอาการวิกฤต และในการรักษามีหลายขั้นตอน หลายสถาบันทำงานร่วมกัน จึงต้องสร้างกรอบแนวทางร่วมกัน รวมไปถึงการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อนำมาเปรียบเทียบประกอบการรักษา

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมียาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อยู่ในมือประมาณ 40,000-50,000 เม็ด และดำเนินการกระจายยาไปให้ครอบคลุมกับหน่วยบริการที่สามารถดูแลผู้ป่วยตามแนวทาง โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายวิกฤต

“เบื้องต้น วันนี้ได้มีการหารือกันในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของ สธ.พบว่ายาชนิดนี้ได้กระจายออกมา 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กรมควบคุมโรค ที่มีสถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันหลักในการดูแลผู้ป่วย ส่วนที่ 2 กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก และครอบคลุมไปถึงสถาบันที่เป็นมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลในสังกัดเอกชน ส่วนที่ 3 การกระจายไปตามเขตสุขภาพ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่เพื่อสามารถดูแลโรงพยาบาลขนาดเล็กที่เป็นเครือข่ายได้ในแต่ละเขตสุขภาพด้วย ในกระจายยาเพื่อให้เกิดการครอบคลุม และสามารถใช้ได้ตามแนวทางของการดูแลผู้ป่วย นอกจากมาตรการทางยาก็จะต้องมีมาตรการในการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายและการติดเชื้อในโรงพยาบาล ก็มีความจำเป็นด้วย เช่น คลินิกโรคไข้หวัดที่ทำการแยกผู้ป่วยออกไป ขณะนี้ได้ดำเนินการในทุกโรงพยาบาล” นพ.ณรงค์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มียาประมาณ 50,000 เม็ด เพียงพอกับความต้องการสำรองยา และขณะนี้มีสารตั้งต้นในการผลิตเองแล้วหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ในส่วนของสารตั้งต้นผลิต ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ดำเนินการประสานเจรจาไปยังประเทศที่มีสารตั้งต้น ได้มีการประมาณการณ์ไว้ว่าสถานการณ์จะดีที่สุด จนถึงสถานการณ์มีผู้ป่วยมากที่สุด มาตรการต่างๆ จะช่วยลดการแพร่ะราดและลดจำนวนผู้ป่วย ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ผู้ป่วยน้อย ยาที่ใช้ก็จะน้อยลง

แฟ้มภาพ

“กรณียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไวรัสโคโรนา 2019 เดิมมียาฟาวิพิราเวียร์ อยู่ในประเทศไทยประมาณ 5,000 เม็ด ภายหลังประเทศจีนได้บริจาคเพิ่มมาอีก 2,000 เม็ด และประเทศไทยเองได้ทำการสั่งซื้อเข้ามาอีกประมาณ 40,000 เม็ด เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า จากสถิติผู้ป่วยภายในประเทศจีนมีจำนวนร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเบา ร้อยละ 20 คือผู้ป่วยที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล และอีกร้อยละ 5 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก คณะกรรมการที่ดูแลการรักษาก็จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ยาในการรักษาที่ไม่ใช่เพียงการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น แต่มีการใช้ยาอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ทางทีมคณะทำงานกำลังทำผังการดำเนินการอยู่ ยาที่ได้มาจำนวน 50,000 เม็ด เป็นการกระจายไปใช้ตามความเสี่ยงตามแต่ละพื้นที่ จากข้อมูลในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยจำนวน 30 ราย อยู่ในการรักษาของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยาก็จะกระจายอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็สามารถหมุนเวียนไปใช้ตามพื้นที่ต่างๆได้เช่นกัน อย่างเช่นกรณีของหน้ากากอนามัย ทางกรมการแพทย์เองก็ไม่ได้มีมาก แต่เราใช้มาตรการในการปรับทรัพยากรเพื่อใช้ร่วมกัน” นพ.ณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับยาตัวนี้มาจากประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยมีข่าวดีว่าประเทศจีนมีสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคลดลง จีนเองก็จะมีทรัพยากรมากขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย ยา ชุดป้องกัน PPE หมวก แว่นตา เป็นต้น และได้มีการเสนอประเทศไทยมาแล้วว่าหากมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรใดให้แจ้งไปทางประเทศจีนได้เลย แต่อยู่ในระหว่างการประสานกันต่อไป ในส่วนของยาที่มีสำรองในขณะนี้ภายในประเทศไทย สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ 1,000 ราย โดยคิดเป็นอัตราการใช้ 1 คอร์ส คือ ผู้ป่วย 1 ราย ใช้ยาประมาณ 50 เม็ด โดยจะมีการจ่ายยาวันละ 4 เม็ด เป็นการใช้สูตร 2×2 คือ จ่ายยาครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 เวลา แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องใช้การรักษา 2 คอร์ส และในผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 50 รายนั้นก็ไม่ได้มีการใช้ยาตัวนี้ในทุกราย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

“ยา 2,000 เม็ดที่ประเทศจีนบริจาคมานั้น ก็เกิดจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและจีน ที่ไทยเราได้ดูแลคนจีนที่เป็นผู้ป่วยภายในประเทศไทย ขณะนี้ขั้นตอนการผลิตก็มีการเตรียมสารตั้งต้นไว้ แต่หากโลกมีการระบาดรุนแรงกว่านี้แล้วผลิตไม่เพียงพอก็จะกลายเป็นปัญหา สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือการป้องกันและให้มีการติดเชื้อน้อยที่สุด เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้มากที่สุด” นพ.ณรงค์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image