บริการ ‘ทันตกรรมไทย’ ไม่เป็นธรรม ต่างสิทธิ ต่างฐานะ สุขภาพช่องปากไม่เท่ากัน

แม้สวัสดิการด้านสุขภาพของรัฐทั้ง 3 สิทธิ ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บรรจุสิทธิประโยชน์ด้าน “บริการทันตกรรม” และครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 99 ของประเทศ

แต่ในข้อเท็จจริง กลับพบว่าการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชากรยังคงต่ำ และไม่เท่าเทียมกันระหว่างสิทธิ

จากการศึกษา “ความเป็นธรรมในการได้รับบริการสุขภาพช่องปากของประชากรไทย: การวิเคราะห์ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2560″ โดย ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์, วริศา พานิชเกรียงไกร และ วุฒิพันธุ์ วงษ์มงคล ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน 2562 ระบุว่ามีผู้ได้รับบริการทันตกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.6 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในปี 2558 โดยสัดส่วนดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากเปรียบเทียบกับสถิติหลังปี 2552 เป็นต้นมา

ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) มีสัดส่วนการรับบริการทันตกรรมที่แตกต่างกัน อยู่ที่ร้อยละ 37-71 ในปี 2552

Advertisement

การศึกษาดังกล่าวยังพบว่า ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนได้รับบริการทันตกรรมมากที่สุด คือ ร้อยละ 14.8 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด รองลงมาคือ สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 12.3 และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่ำที่สุด เพียงร้อยละ 8.5

สาเหตุหลักที่ผู้มีสิทธิเลือกที่จะไม่เข้ารับบริการทันตกรรม เป็นเพราะคิวช้าและรอนาน ไม่สะดวกไปรับบริการในเวลาทำการ ขณะที่ผู้มีสิทธิประกันสังคมจำนวนหนึ่งระบุว่าเป็นเพราะสวัสดิการไม่ครอบคลุม เมื่อเทียบกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

เมื่อแบ่งประชากรตามระดับเศรษฐานะเป็น 5 ระดับควินไทล์ ประชากรกลุ่มควินไทล์ที่ 5 หรือประชากรกลุ่มที่รวยที่สุด ได้รับบริการทันตกรรมมากกว่าประชากรในกลุ่มควินไทล์ที่ 1-3 หรือประชากรกลุ่มที่จนที่สุด มากกว่า 2 เท่า

Advertisement

นั่นสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมในบริการทันตกรรมไทย เมื่อกลุ่มประชากรต่างเศรษฐานะไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน

“เศรษฐานะมีผลเยอะ เศรษฐานะไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังมีเรื่องการศึกษา ไลฟ์สไตล์ ความพร้อมในชีวิต มีแนวโน้มที่คนที่พร้อมมากกว่าจะไปหาหมอฟันได้ง่ายกว่า ถึงจะมีหรือไม่มีอาการ ก็ไปตรวจฟันได้” ทพ.ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าว

“คนที่มีเศรษฐานะน้อย มีต้นทุนในการไปรับบริการสุขภาพสูง มีค่าเดินทาง และค่าเสียโอกาสจากการลางาน เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการได้”

⦁ต่างสิทธิ ต่างวิธีเบิกจ่าย ผู้ป่วยเข้าถึงบริการไม่เท่าเทียมกัน

ทพ.ธีรวัฒน์ชี้ว่า ที่มาของความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทันตกรรมระหว่างสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ มี “ความซับซ้อน” หนึ่งในปัจจัย คือ ระบบการเบิกจ่ายเงินและการบริหารงานที่แตกต่างกันในแต่ละสิทธิ

ยกตัวอย่างเช่น ในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ใช้ระบบจ่ายเงินแบบรายบริการ Fee for service (การจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการตามปริมาณงานที่ให้บริการ) อาจมีแนวโน้มเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการให้บริการมากกว่าสวัสดิการที่ใช้ระบบงบประมาณแบบรายหัว (Capitation) ที่สถานบริการได้รับงบประมาณแบบตายตัว

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้ป่วยภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำนวนมาก การรักษาจึงมีคิวยาว ผู้ป่วยต้องรับบริการจากโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมักเปิดเฉพาะในเวลาราชการ

สิทธิประกันสังคมจ่ายค่าบริการทันตกรรมแบบกำหนดเพดาน คือ ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งครอบคลุมบริการทันตกรรมไม่กี่รายงานเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง

“ฟันไม่ใช่เรื่อง Emergency (ฉุกเฉิน) เป็นแล้วไม่ถึงชีวิต ทั้งตัวผู้รับบริการและผู้จัดการระบบจึงไม่ได้ให้ Priority (ความสำคัญลำดับแรก) กับเรื่องฟันเท่าที่ควร อย่างเช่น สิทธิประกันสังคม ซึ่งมาให้สิทธิประโยชน์เรื่องฟันในตอนหลัง และมีทัศนคติว่าสิทธิประโยชน์เรื่องฟันถือเป็นของแถม” ทพ.ธีรวัฒน์ให้ความเห็น

“ข้อเสนอของเรา คือ 3 สิทธิควรเหมือนกัน ทั้งในเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ กลไกการจ่ายเงิน และข้อกำหนดบริการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกัน” ทพ.ธีรวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายอื่นๆ จากงานวิจัย ได้แก่ เพิ่มการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อให้คนรับรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการทันตกรรม จัดทำโครงการที่ขยายบริการทันตกรรมไปสู่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำ

และเพิ่มศักยภาพของสถานบริการภาครัฐ เช่น ขยายเวลาให้บริการ และทำงานเชิงรุกนอกสถานพยาบาล โดยทางเลือกหนึ่งคือ การดึงสถานบริการเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับระบบบริการสุขภาพช่องปาก

⦁ภาครัฐขยับยาก เสนอดึงภาคเอกชนร่วมให้บริการ

ก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมในกลุ่มประชากรเสี่ยง โดยจัดตั้ง “กองทุนทันตกรรม” ภายใต้การบริหารของ สปสช.

กองทุนดังกล่าวแยกงบประมาณด้านบริการทันตกรรมออกจากงบผู้ป่วยนอก แล้วนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้สถานพยาบาลทำงานทันตกรรมด้านส่งเสริมและป้องกันโรค เช่น อุดฟันและเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ เน้นให้บริการกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ หน่วยบริการยังสามารถเสนอโครงการเข้าไปที่ สปสช. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กองทุนทันตกรรมกลับถูกยุบไปอย่างเงียบๆ ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการรัฐประหารปี 2557 ทำให้หน่วยบริการหลายแห่งจำเป็นต้องปิดโครงการอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านั้นมีผลลัพธ์ที่ดี ในแง่ของการเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าปัจจุบัน สปสช.ยังคงส่งเสริมงานทันตกรรมด้านส่งเสริมและป้องกันโรคในกลุ่มเด็กวัยเรียนและหญิงตั้งครรภ์ โดยดึงงบประมาณในกองทุนส่งเสริมและป้องกันโรคมาจ่ายให้โรงพยาบาลตามรายการบริการทันตกรรมที่ให้กับผู้ป่วย

“ส่วนในเรื่องคิวยาว เราต้องนั่งคุยอีกพอสมควร ในอนาคตมองว่าฟันเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการจัดบริการส่งเสริมและป้องกันโรคให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ฟันจะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าฟันไม่ดี กินไม่ได้ อาหารก็ไม่ถึง สร้างปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ให้กับผู้สูงอายุ” นพ.จักรกริช กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทันตกรรม ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าโดยเฉพาะเมื่อภาครัฐมิได้ขยับตาม เพราะเห็นว่าการทำฟันไม่ใช่บริการหลัก รวมทั้งยังมีการเมืองภายใน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และภาระงานที่ล้นเกินของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ทันตแพทย์จำนวนหนึ่งจึงเสนอให้รัฐดึงคลินิกเอกชนเข้าร่วมให้บริการทันตกรรม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคฟันและบริการส่งเสริมและป้องกันโรค ปัจจุบัน มีเก้าอี้ทำฟันในประเทศไทย 9,732 ตัว เป็นของคลินิกเอกชน 4,681 ตัว เฉลี่ยคลินิก 1 แห่ง มีเก้าอี้ทำฟันเฉลี่ย 2.5 ตัว

“เก้าอี้ทำฟันของเอกชนมีมาก ทำอย่างไรเราจะดึงภาคเอกชนเข้ามาให้บริการร่วมกับรัฐ” ผศ.ทพ.ดร.ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปากกล่าว

ผศ.ทพ.ดร.ทรงวุฒิ เสนอว่า สปสช.สามารถทำสัญญากับคลินิกเอกชน แล้วตามจ่ายค่าบริการทันตกรรมตามรายการให้กับคลินิก หรือโรงพยาบาลภาครัฐสามารถประสานกับคลินิกในพื้นที่ แล้วตกลงกันในเรื่องราคา เป็นการทำงานในลักษณะรัฐร่วมเอกชน หรือ Public-Private Partnership

“พาร์ตเนอร์ชิป ต้องอยู่ในลักษณะที่เสมอภาค คือทั้ง 2 ฝ่ายเรียนรู้ด้วยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หากมองในเชิงโครงสร้าง ต้องมีการกระจายอำนาจไปที่ สปสช.เขต ให้สามารถบริหารจัดการได้ยืดหยุ่นขึ้น” ผศ.ทพ.ดร.ทรงวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image