สธ.ยัน “โควิด-19” ในไทยยังระบาดระยะที่ 2 แนะเลี่ยงไป “สเปน” อีก 1 ปท.

วันที่ 11 มีนาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่หลายฝ่ายกังวลจะเข้าสู่การรบาดในระยะที่ 3 ว่า การระบาดระยะที่ 2 คือ เป็นการแพร่ระบาดในประเทศภายในวงจำกัด (Limited Local Transmission) เมื่อใดก็ตามที่เจอผู้ป่วยและมีการจำกัดในวงแคบ ไม่ได้ส่งต่อไปยังผู้อื่นรายที่ 2 ราย 3 4 และ 5 ก็ยังเป็นการแพร่ระบาดอย่างจำกัด คือมีการควบคุมได้ และประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเพิ่มประเทศที่เลี่ยงการเดินทางไปคือ ประเทศสเปน สธ.มีคำแนะนำให้คนไปประเทศนี้อย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศสเปน อยู่ในทวีปยุโรปและใกล้กับอิตาลีที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์จะมีการระบาดต่อเนื่องในบริเวณนั้น โรคน่าจะไม่หยุดง่ายๆ โดยประเทศที่อยู่ใกล้เคียงจึงมีความเสี่ยง และตามเกณฑ์ที่ สธ.ตั้งไว้ว่าประเทศที่ควรเลี่ยงไปคือ ประเทศที่มีผู้ป่วยเกิน 1,000 ราย และมีความต่อเนื่องในการพบผู้ป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ และเป็นช่วงขาขึ้นของโรค สธ.จึงมีหน้าที่ประกาศเตือนให้ประชาชนคนไทยรับทราบ ว่าควรเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น ไม่ไปในพื้นที่มีคนแออัด ไม่ไปใน รพ.ในประเทศนั้นๆ หากไม่จำเป็น ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยง

“กรมควบคุมโรคจึงได้เพิ่มประเทศสเปนเป็น 1 ในประเทศที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเมื่อกลับมาจากประเทศนี้ควรกักกันตนเอง แยกตัวออกมาอยู่เพียงลำพัง แยกสิ่งของเครื่องใช้ วัดอุณหภูมิร่างกาย เมื่อพบอาการป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า เกณฑ์การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จะต้องขยายไปในประเทศอื่นๆภายในทวีปยุโรป ที่นอกเหนือจากการแนะนำ 10 ประเทศหรือไม่ และจะต้องมีการแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์อย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า บางครั้งจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการไม่ได้ขึ้นทันที เนื่องจากจะต้องมีการรายงานไปยังองค์การอนามัยโลกจึงจะแสดงข้อมูล แต่ในกรณีที่ไม่เข้ากับชื่อของ 10 ประเทศ ที่มีการประกาศให้เลี่ยงการเดินทาง ทีมตระหนักรู้สถานการณ์จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณี เนื่องจากบางกรณีอาจเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดสถานการณ์เพิ่มเติม หรือมีบางเหตุการณ์ที่ทำให้ทราบสถานการณ์ดีขึ้นมากกว่าจำนวนตัวเลข ก็จะมีการอนุญาตให้ตรวจ ควรจะมีการแจ้งประวัติการเดินทางเพื่อให้ทราบระดับความเสี่ยงของการตรวจวินิจฉัย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางยังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนี้จะต้องมีการกักกันตนเองอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนของนักท่องเที่ยวจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.ผู้เดินทางมาจาก 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ คือ 1.สาธารณรัฐเกาหลี 2.สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง มาเก๊า ฮ่องกง 3.สาธารณรัฐอิตาลี และ 4.สาธารณรัฐอิหร่าน ตามประกาศเป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือ กักกัน แยกตัว ในสถานที่ที่สามารถติดตามได้จนครบ 14 วัน โดยจะต้องสังเกตอาการตนเอง และไม่ไปพบปะผู้อื่น และ 2.ผู้เดินทางที่ไม่ได้เดินทางมาจาก 4 ประเทศนี้ แต่เป็นพื้นที่ที่ประกาศว่าควรเลี่ยงคือ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ก็แนะนำให้เลี่ยงการเดินทาง และค่อยสังเกตอาการตนเอง ไม่เดินทางไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

“หากดูตามความเสี่ยง ชาวต่างชาติจะเข้ามาในระยะที่สั้นกว่าคนไทย เช่น บางคนมาถึงประเทศไทยแต่ไม่ป่วยและกลับไปประเทศตนเองแล้วจึงป่วย แต่คนไทย เดินทางไปแล้วเมื่อกลับมาก็อยู่ในประเทศยาว จนกระทั่งมีอาการป่วย ซึ่งอาจจะอยู่รวมกับญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงานต่อ การบริหารจัดการควรทำให้เหมาะสม คือ จัดการตามระดับความเสี่ยง เพราะต่างชาติก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องมาทำงานในประเทศไทย เช่นหากเราจะเดินทางไปประเทศอื่นที่มีข้อจำกัดมากๆ ก็จะต้องมีการประเมินดูระดับความเสี่ยง และจะจัดการอย่างไรให้พอดี ไม่มีมาตรใดมาตรการเดียวที่ใช้ได้กับทุกคนอยู่แล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่าการแพร่ระบาดในระยะ 1-3 เป็นอย่างไรบ้าง และการแจ้งเตือนการเดินทาง 1-3 เป็นอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า การแพร่ระบาดระยะที่ 1 คือ พบผู้ป่วยที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ระยะที่ 2 คือ มีการแพร่ระบาดจากผู้ป่วยต่างประเทศมายังคนในประเทศไทย แบบวงจำกัด ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงขณะนี้ และในระยะที่ 3 คือ มีการติดจากผู้ป่วยต่างประเทศสู่คนไทย และมีการติดต่อไปอีกหลายรุ่นหรือหลายระลอก ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย จึงสามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยอยู่ในการระบาดระยะที่ 2 ส่วนเรื่องของการแจ้งเตือนการเดินทาง คือ การเตือนประชาชนคนไทย ไม่ให้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการแนะนำการเดินทางไปต่างประเทศว่าควรเดินทางไปหรือไม่ เช่น ในขณะนี้ประเทศอิตาลีมีการระบาดอย่างรุนแรง คำนำแนะจึงระบุว่าควรงดการเดินทางหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง เนื่องจากมีความเสี่ยงระดับสูง

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า โดยทั่วไปมี 3 วิธี คือ 1.ตรวจหาหลักฐานว่ามีเชื้อนั้นหรือไม่ หรือตามทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า การตรวจหาแอนติเจน ซึ่งมีมาตรฐานและองค์การอนามัยโลกแนะนำ รวมถึงประเทศจีนก็ใช้วิธีนี้ในการตรวจหาเชื้อ 2.การตรวจภูมิหรือเรียกว่าตรวจหาแอนติบอดี้ เป็นการตรวจหาเชื้อในเลือด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย 3.วิธีอื่นๆ โดยหลักจะมีการตรวจด้วย 2 วิธีแรกเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในแต่ละวิธีจะมีข้อใช้ต่างกัน เช่น การตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ จะต้องรอให้ภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นมาภายหลังจากมีการติดเชื้อแล้ว ซึ่งจะรอหลังจากวันที่ 7 ในระยะที่มีอาการไปแล้ว หมายความว่าในช่วงระยะเวลาแรก อาจจะตรวจแล้วไม่พบเชื้อได้ แต่มีข้อดีคือ สามารถตรวจได้รวดเร็วภายใน 15 นาที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image