เหตุ-ผล “โควิด-19” แนวโน้มระบาดในไทย ระยะที่3

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (Covid-19) ที่ลุกลามไปทั่วโลกขณะนี้ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังคงให้ความมั่นใจว่าสถานการณ์ของประเทศไทยยังเป็นการระบาดในวงจำกัด อยู่ในระยะที่ 2 แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินŽ กรมควบคุมโรค สธ.ได้จัดทำเอกสารคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในวงกว้าง หรือเข้าสู่ระยะที่ 3

ทั้งนี้ มติชนŽ ได้นำรายละเอียดบางส่วนมานำเสนอ เพื่อให้ได้เห็นสถานการณ์ในภาพรวม

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562-วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วใน 51 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ และ 1 เรือสำราญ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยยืนยัน ทั้งสิ้น 85,409 ราย เสียชีวิต 2,933 ราย (อัตราป่วยตายร้อยละ 3.4) โดยปัจจุบันยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่วันละมากกว่า 1,000 ราย

แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจีนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่จำนวนผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีประเทศที่มีรายงานการแพร่เชื้อภายในประเทศ (local transmission) รวม 36 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิหร่าน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส แคนาดา ฟิลิปปินส์ อียิปต์ อินเดีย รัสเซีย อิสราเอล สวีเดน ศรีลังกา เนปาล เลบานอน อิรัก ฟินแลนด์ กัมพูชา เบลเยียม อัฟกานิสถาน บาห์เรน คูเวต โอมาน โครเอเชีย และประเทศไทย

Advertisement

มีการระบาดในวงกว้างในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่ได้ไปรับการตรวจรักษาและแยกโรค แต่ยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติจนทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อๆ กันไปในหลายรุ่นการระบาด และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าที่ระบบบริการสาธารณสุขจะรองรับไหว ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยและการควบคุมโรค จึงต้องมีมาตรการทางสังคมตามมาเพื่อช่วยในการชะลอการระบาด มาตรการส่วนใหญ่ทำเพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชน ได้แก่ การปิดโรงเรียน การยกเลิกพิธีกรรมทางศาสนา การเลื่อนกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เช่น งานกีฬา การแสดงสินค้า การประชุมนานาชาติ เทศกาลรื่นเริงต่างๆ

แม้ว่าประเทศไทยมีความพยายามในการควบคุมโรค โดยการตรวจจับผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว แยกโรค และติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยทุกราย ทำให้การระบาดยังอยู่ในวงจำกัดในระยะที่ผ่านมา (ระยะที่ 2) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่ประเทศไทยจะพบการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากเหตุผล

1.ประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่ผู้ป่วยจากประเทศเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ในขณะที่ความเข้มข้นในการคัดกรองของด่านควบคุมโรคมีจำกัด

Advertisement

2.ยังคงมีบางประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศนั้นๆ และอาจมีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

3.ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ได้มารับการรักษาในทันทีตั้งแต่วันแรกที่มีอาการป่วย ทั้งยังไม่มีพฤติกรรมการป้องกันการแพร่เชื้อที่เหมาะสม (ผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยเข้ารับการรักษาโดยเฉลี่ยในวันที่ 2 หลังจากเริ่มป่วย)

4.ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศที่ไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน

5.ประเทศไทยยังคงมีการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จะพบเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยเข้าไปในสถานที่แออัดและเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว เช่น โบสถ์ในเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ และเรือสำราญ ประเทศญี่ปุ่น

จากเหตุผลข้างต้น ได้มีการคาดการณ์การระบาดในระยะที่ 3 โดยใช้เทคนิค compartmental model ซึ่งหลายสถาบันทั้งในจีน แคนาดา ฮังการี สวีเดน และองค์การอนามัยโลก มีการใช้เทคนิคนี้ โดยพิจารณาจากปัจจัย ความสามารถในการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปสู่คนอื่นๆ ความมีฤดูกาลของโรค สัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ (ร้อยละ 45 อ้างอิงจากข้อมูลเรือไดมอนด์ปริ้นเซส) โดยมีสมมุติฐาน คือ หากการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจะระบาดแบบระลอกเดียวจบ แต่หากการระบาดชะลอลงได้ในระดับหนึ่ง จะเห็นแนวโน้มการเกิดโรคเป็นฤดูกาล ดังนี้

1.สถานการณ์ที่การควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ (รุนแรงที่สุด) นั่นคือ หากปล่อยให้การระบาด เป็นไปโดยธรรมชาติของโรค มีความพยายามที่จะชะลอการระบาดบ้างแต่ไม่มากนักหรือไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก 2.2 คน การระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนสิงหาคม จำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นประมาณ 16.7 ล้านคน ภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้น่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงกว่าที่คาดการณ์ได้ 3-4 เท่าแล้ว

2.สถานการณ์ที่สามารถชะลอการระบาดได้พอสมควร หากมาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการมีความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.8 คน การระบาดในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 480,000 คนต่อสัปดาห์
มาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์นี้ต้องลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลง เช่น การงดกิจกรรมรวมคน การกักกันเพื่อสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด

3.สถานการณ์ที่สามารถควบคุมโรคได้ดี จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.6 คน เกิดการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี และกลายเป็นโรคประจำถิ่นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ มาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์นี้ต้องมีความเข้มข้น และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลงให้ได้มากที่สุด เช่น การงดกิจกรรม รวมคน ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน งดการเคลื่อนย้ายคนในหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งป้องกันและควบคุมการเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เช่น การระบาดในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงงาน หรือในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ บนพื้นฐานของข้อมูลธรรมชาติของโรคและระบาดวิทยาที่มีในปัจจุบัน ยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยการป้องกันควบคุมโรคและการรักษา เช่น การงดการจัด กิจกรรมรวมคนจำนวนมาก การใช้ยา ซึ่งยังต้องรอข้อมูลประสิทธิผลของการรักษา และวัคซีนซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต

กว่า 2 เดือน ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่กับการระบาดของโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มว่าจะต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อชะลอความรุนแรงของการระบาด โดยเฉพาะการป้องกันตนเองด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ระงับการเดินทางไปยังจุดเสี่ยง ยกเลิกกิจกรรม เทศกาล หรือการรวมคนจำนวนมาก

ควรดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อลดโอกาสสัมผัสโรค หากไม่ดำเนินการใดๆ เลย สถานการณ์ไปสู่จุดที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้เกิดขึ้นแน่นอน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image