ก.แรงงาน ถก สมาคมโรงแรมไทย เร่งช่วยผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง รับผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่สมาคมโรงแรมไทย นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วม กับ น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย และ น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย หารือกรณีช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม หลังนักท่องเที่ยวหดหายจนเกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมของไทยกำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัว ปิดกิจการ ไม่มีการจ้างงานลูกจ้างในโรงแรม จากการลดลงของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ และบางส่วน ก็ไม่ได้ตั้งรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว

“สิ่งที่กระทรวงแรงงานและ สมาคมโรงแรมไทย เร่งดำเนินการคือ การหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มโรงแรมไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่า ควรมีมาตรการรองรับช่วยเหลือ รวมทั้งผลักดัน ส่งเสริม กระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งจากการรับฟังปัญหาของสมาคมโรงแรมไทย พบว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งด่วนในตอนนี้คือ เรื่องการว่างงาน ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างอาชีพธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนักที่สุด จึงได้ร่วมกันประชุมเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” นายดวงฤทธิ์ กล่าวและว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบดังกล่าว เพื่ออำนวยการประสานงาน และพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะรีบตรวจสอบสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และกรมการจัดหางาน (กกจ.) จะช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง โดยมาตรการก่อนมีการเลิกจ้างได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการติดตามสถานการณ์ของสถานประกอบการในพื้นที่ที่รับผิดชอบที่มีแนวโน้มจะเลิกประกอบกิจการ หรือเลิกจ้าง หรือลดจำนวนลูกจ้างเพื่อเตรียมหาตำแหน่งงานว่างในประเภทกิจการเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันไว้รองรับผู้ถูกเลิกจ้าง โดยจะมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะและประสานหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเตรียมการรองรับ มาตรการหลังมีการเลิกจ้างกรณีมีความชัดเจนว่ามีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก จะสำรวจความต้องการเบื้องต้นของผู้ถูกเลิกจ้างเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะพัฒนาฝีมือ   แรงงงานให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะสร้างการรับรู้ โดยลงพื้นที่เข้าไปยังสนาประกอบการ และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะดูแล ตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการในกลุ่มเสี่ยงที่มีการเลิกจ้างงาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image