กรมอนามัยออกประกาศคุมเชื้อ “โควิด-19” สถานที่ราชการ-บริษัทเอกชน-สถานประกอบการ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกรมอนามัย เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน และสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2563 เพื่อลดความเสี่ยง พร้อมเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลัก 3 ล. ลด เลี่ยง ดูแล

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน และสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2563เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 โดยให้ถือปฏิบัติใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ ควบคุมเกี่ยวกับสุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร  โดยให้มีการทำความสะอาดอาคารและบริเวณโดยรอบ เช่น พื้น ผนัง ประตู และจุดหรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู ราวจับหรือราวบันได สวิตช์ไฟ ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และให้มีระบบการระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในอาคารที่เหมาะสม  ส่วนกรณีสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบกิจการ มีการจำหน่ายอาหารหรือโรงอาหารต้องทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ เช่น โต๊ะอาหารอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุง ประกอบอาหาร อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ด้วยน้ำยาทำความสะอาด ซึ่งรวมทั้งบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนหรือบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรค ได้แก่ โถส้วม ที่กดชักโครกหรือโถปัสสาวะ สายฉีดชำระ กลอนหรือลูกบิดประตู ฝารองนั่ง ฝาปิดชักโครก ก๊อกน้ำอ่างล้างมือ

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ 2 คือ การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ให้จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือไว้ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง เช่น จุดประชาสัมพันธ์ ห้องอาหาร ห้องออกกำลังกาย ประตูทางเข้าออกหรือหน้าลิฟต์ เป็นต้นรวมถึงบริเวณอ่างล้างมือและห้องสุขาต้องสะอาด และจัดให้มีสบู่ล้างมืออย่างเพียงพอ พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดอาคารอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ด้วย ส่วนที่ 3 คือ การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัส ต้องมีการป้องกันตนเอง โดยอาจใช้หน้ากากผ้า ทำความสะอาดมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็นและพนักงานทำความสะอาดต้องสวมถุงมือขณะปฏิบัติงานหากเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและเข้ารับการรักษาตัวในสถานบริการสาธารณสุขสำหรับพนักงานเก็บมูลฝอยที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น กระดาษเช็ดปาก กระดาษชำระในห้องส้วมต้องมีการป้องกันตนเอง โดยใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางและใช้เหล็กคีบด้ามยาวเก็บมูลฝอยใส่ถุงบรรจุมูลฝอยปิดปากถุงให้มิดชิด นำไปรวบรวมไว้ที่พักมูลฝอยและล้างมือหลังปฏิบัติงานทุกครั้ง

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

“สำหรับ ส่วนที่ 4 คือ การให้ความรู้ คำแนะนำ และสื่อสารประชาสัมพันธ์ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ประกอบการ ควรจัดหาสื่อประชาสัมพันธ์หรือช่องทางให้ความรู้ในการป้องกัน และการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริการเช่น วิธีการสังเกตผู้สงสัยติดเชื้อคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดประกาศดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย http://laws.anamai.moph.go.th/main.php?filename=index” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image