สธ.เตรียมเปิด “แผนที่” เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หวังให้ปชช.เฝ้าระวังตัวเอง

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคจัดทำแผนที่สถานที่ต่างๆ ที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์และดูกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง โดยรวบรวมข้อมูลมาจากการพบผู้ป่วย เพื่อให้แผนที่จะบอกว่าพื้นที่ไหน มีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนของพฤติกรรมการติดเชื้อ จะต้องพิจารณา 2 ส่วนคือ 1.จำนวนคนที่สัมผัสใกล้ชิดในแต่ละวัน ดังนั้นขึ้นอยู่ว่าในแต่ละวัน เราเจอใครบ้าง 2.ผู้ที่เราไปสัมผัสเหล่านั้นว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ดังนั้นการทำแผนที่ของพื้นที่เสี่ยง จึงจะทำให้ทราบว่าในพื้นที่ที่เราเดินทางไปนั้นมีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน เพื่อจัดการความเสี่ยงไม่ใช่เพื่อการตื่นตระหนก

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เรื่องของการทำความสะอาด (Big Cleaning) เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยพบผู้ป่วยในประเทศรายแรกเป็นคนขับรถแท็กซี่ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มี 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่คนที่ให้กักกันตนเองที่บ้าน ซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคม ในกระบวนการจัดการคือคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ป่วย จะไม่มีการปนเปื้อนและมีการแพร่เชื้อมาในชุมชน กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีคนไปรวมตัวกันจำนวนมาก มุ่งเป้าใน 3 กลุ่มหลักคือ ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะและศาสนสถาน กลุ่มที่ 3 คือ พื้นที่จัดกิจกรรม ซึ่ง สธ.ไม่แนะนำให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มกัน ส่วนกรณีที่พื้นที่ใดพบผู้ป่วยจะดำเนินการปิดและทำความสะอาดอย่างทั่วถึง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อโรคแล้วจึงอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้รับรองมีอย่างน้อย 35 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างละจังหวัดละ 1 แห่ง จากข้อมูลพบว่า ในกรุงเทพฯ ใช้ห้องตรวจของ รพ.รามาธิบดี ซึ่งตรวจมากกว่าวันละ 1,000 ราย และกรณีการตรวจฟรี 18 แห่ง ไม่ใช่ข้อมูลที่ออกมาจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ เนื่องจากจะตรวจฟรีจะต้องเป็นผู้ที่เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค และสามารถตรวจได้ทุกแห่งที่อยู่ในเครือข่ายห้องแล็บที่มีมาตรฐานและได้การรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่าเจ้ากรมสวัสดิการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สนามมวยลุมพินี และในกลุ่มผู้ป่วยนี้มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยหรือไม่ มีข้อเท็จจริงอย่างไร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประการที่ 1 กรณีผู้ป่วยทุกรายจะต้องถูกควบคุมอยู่ในสถานพยาบาลไม่ให้เกิดการแพร่โรค ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครโอกาสที่จะแพร่กระจายโรคก็จะไม่เกิดขึ้น ประการที่ 2 คือผู้สัมผัส อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ ก็ถูกนำมายังพื้นที่แยกกัก เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และข้อมูลผู้ป่วยไม่สามารถเปิดเผยได้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองผู้ป่วย

Advertisement

เมื่อถามว่า ในช่วงแรกมีการระบุว่าการเปิดเผยสถานที่พบผู้ป่วยไม่จำเป็น แต่ในขณะนี้มีมาตรการให้ทำแผนที่เสี่ยง กรณีนี้มีนัยยะสำคัญอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในเรื่องของสถานที่ก็ไม่มีการปิดบัง เนื่องจากเมื่อมีการแถลงข่าวออกไปแล้วทุกสถานที่ก็ได้ดำเนินมาตรการองค์กรอัตโนมัติ เช่น ประกาศปิดตึก ประกาศปิดผับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสถานที่ที่มีความเสี่ยงโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่หากยกตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยที่มารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร เป็นพนักงานบริษัท และบริษัทนั้นก็ได้ทำการประกาศตัวเองตามมาตรการองค์กรตามที่เห็นในข่าว

เมื่อถามว่า รพ.เอกชน มีห้องแยกโรคหรือห้องดูแลผู้ป่วยอยู่หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรณีในช่วงนี้มีความต่างจากช่วงแรกที่พบผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเจอผู้ป่วยมากขึ้นมาตรการแพทย์โดยผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้อยู่แล้ว คือห้องแยกกัก (Isolated room) และในช่วงนี้มีการตรวจพบผู้ที่เชื้อแม้ไม่มีอาการมาก ก็จะถูกนำมาแยกกัก แต่รายที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สามารถฟุ้งกระจายเชื้อได้ จะต้องนำเข้าห้องแยกความดันลบ (Negative Pressure)

เมื่อถามว่าขณะนี้พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น มีนัยยะสำคัญในการเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการพบผู้ป่วยกลุ่มก้อนขนาดใหญ่และมีผู้ป่วยในกรุงเทพฯ มากขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องเพิ่มความเร็วในกระบวนการทำงานมากขึ้น เพราะเป็นช่วงจังหวะที่สำคัญ ถ้าหากมีผู้ป่วยหลุดมือไปจำหนึ่งและไปแพร่เชื้อตามที่เป็นข่าวก็จะเกิดเป็นการแพร่ในกลุ่มก้อนขนาดใหญ่และถ้าในกลุ่มก้อนนี้ผู้ป่วยหลุดออกไปอีกก็จะสามารถไปแพร่โรคในระยะต่อไปอีก เราจึงต้องรีบหาผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว ประชาชนให้ความร่วมมือได้ เช่น หากผู้ที่มีประวัติไปสนามมวย และมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ไปแพทย์เพื่อตรวจ และระหว่างนี้ให้เลี่ยงการแพร่เชื้อต่อให้ผู้ป่วย

Advertisement

เมื่อถามว่าอาการของผู้ป่วยยังเป็นอาการเล็กน้อย หรือไม่ และการรักษาคือการสร้างภูมิแก่ผู้ป่วย และมีระยะการรักษาที่น้อยสุดคือเท่าไหร่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากสังเกตพบว่าผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง จะไม่มีออกไปข้างนอก ดังนั้นโรคนี้กว่าร้อยละ 80 ผู้ป่วยมีอาการเบา เหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ยืนยันว่าหากเป็นไข้หวัด ไม่ว่าจะมีอาการมากน้อยแค่ไหน ให้อยู่บ้านและหยุดแพร่เชื้อและหากสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ให้รีบไปพบแพทย์

เมื่อถามว่าในช่วงที่มีฝนตก จะมีผลต่อโรคอย่างไรและประชาชนจะต้องระวังอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า อย่างห่วงเรื่องอากาศ โรคอุบัติใหม่ไม่สนใจสภาพอากาศ แต่หากเราไปพบปะกับผู้ป่วยติดเชื้อและปฏิบัติตัวไม่ดี ก็เสี่ยงอยู่ดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

“เราอย่าเลือกปฏิบัติตัว เช่น วันฝนตกเราจะปฏิบัติดีเข้มข้น แต่ถ้าวันนี้ร้อนก็จะความเสี่ยงน้อยลง เราทำตัวเหมือนกันทุกวันดีกว่า ช่วงนี้ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราจะต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้ประชาชนเริ่มกักตุนสิ่งของมากขึ้นแล้ว สธ.มีคำแนะนำอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การเพิ่มระยะห่างทางสังคม หลักคิดง่ายๆ คือจะต้องประเมินว่าวันนี้เราจะพบปะผู้คนมากน้อยแค่ไหน เช่น ปกติเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกวัน ถ้าหากลดเหลือ 1 วันต่อสัปดาห์ ก็เป็นเรื่องที่ดี จะต้องคิดถึงว่าหากมีผู้ป่วยมากขึ้น เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรให้ตัวเราปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องกักตุนแต่เพียงต้องวางแผนชีวิตให้ดีๆ ไปห้างร้านเพื่อซื้อของมาเตรียมไว้ ไม่ให้ต้องไปเป็นระยะที่ถี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสผู้คนอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image