แพทย์เตือน “นอนกรน” สัญญาณเตือน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

แพทย์เตือน “นอนกรน” สัญญาณเตือน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประชากรควรตระหนักและให้ความสำคัญของการนอนหลับ หากพบปัญหาการนอนหลับ ไม่เร่งรีบแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกาย ใจ สมองและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทำงานได้ ในปัจจุบันภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) พบมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ขณะหลับร่างกายจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ การนอนหลับจะขาดตอน ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

“ภาวะนี้สามารถพบได้ในทุกวัย โดยผู้ใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง วัยทอง คนอ้วน และอาจพบในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าหรือเด็กที่อ้วน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า สัญญาณเตือนที่เสี่ยงอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ การนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ ญาติสามารถสังเกตว่าในขณะนอนหลับ หยุดหายใจหรือหายใจเฮือกเหมือนสำลักน้ำลาย เสียงดังสลับนิ่งเงียบเป็นพักๆ บางครั้งตื่นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะหลังตื่นนอน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริตหรือซึมเศร้า ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography : PSG) ในการวินิจฉัยโรค แนะนำการปฏิบัติตัวพื้นฐานในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น การคุมอาหารและลดน้ำหนักในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยง การนอนหงาย พยายามนอนตะแคง ไม่ควรรับประทานยานอนหลับเพราะยาจะกดการหายใจ ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นมากขึ้น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอนเพราะแอลกอฮอล์จะทำให้รูปแบบการนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และไม่ควรขับรถขณะง่วงนอน เนื่องจากอาจหลับในสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น

นพ.เอนก กล่าวว่า สำหรับการรักษาภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็น 1.การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา 2.การใส่ทันตอุปกรณ์ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละรายซึ่งจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคเล็กน้อยถึงปานกลาง 3.การผ่าตัด ในกรณีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับมีโครงสร้างทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ หลังการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับให้การดูแลที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image