เดินหน้า ยุวสตาร์ตอัพ กองหนุน’โครงการยุวชนสร้างชาติ’

เดินหน้า ยุวสตาร์ตอัพ กองหนุน ‘โครงการยุวชนสร้างชาติ’

‘พะเยา’เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงไปปักธงโครงการยุวชนสร้างชาติ

ด้วยเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ” ซึ่งเป็นโครงการที่จะเปิดโอกาสให้นักศึกษานำความรู้ความสามารถออกไปช่วยพัฒนาชุมชน สร้างประสบการณ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการยุวชนอาสา บัณฑิตอาสา และยุวสตาร์ทอัพ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

โดยเฉพาะ “ยุวสตาร์ตอัพ” จะมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ โดยการให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาตามโจทย์ของชุมชนต่างๆ ซึ่งหากโครงการมีศักยภาพที่จะต่อยอดเป็น “ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม” สามารถนำมาขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการ “กองทุนยุวสตาร์ตอัพ” เพื่อขยายผลต่อไปได้

Advertisement

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุนยุวสตาร์ตอัพได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยโปรแกรมการสนับสนุนทุนของกองทุนยุวสตาร์ตอัพนั้น จะเป็นรูปแบบเงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า (90/10) คือ กองทุนยุวสตาร์ตอัพออกเงินทุนให้สูงสุด 90% และอีกอย่างน้อย 10% มาจากเงินทุนของผู้ประกอบการเอง ซึ่งในส่วนของ 10% ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบนั้น ทางกองทุนยุวสตาร์ตอัพไม่ได้ผลักภาระให้แก่ นิสิต นักศึกษาที่ต้องการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพ (Startup) เราจึงได้ดึงหน่วยงานพันธมิตรอย่างธนาคารออมสิน เข้ามาร่วมสนับสนุนทุนทางธุรกิจ (VC) แก่ผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้ กองทุนยุวสตาร์ตอัพ ดำเนินการสนับสนุนทุนใน 3 โปรแกรมหลัก คือ 1.INCUBATORS INCENTIVE PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 1,500,000 บาท 2.UNIVERSITY SEED GRANT PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 750,000 บาท และ 3.INNOVATION LABS PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 500,000 บาท

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ NIA ยังได้ร่วมกับ ม.พะเยา ดำเนินโครงการ “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID)” ประจำพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งเป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสาขาธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างความสามารถทางนวัตกรรมเพื่อสังคมให้กับองค์กรต่างๆ โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์หรือสาธิตนำร่องผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่เพิ่มมูลค่า หรือรูปแบบการดำเนินการแบบใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน สอดคล้องตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563-2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่อง การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดผลงานนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบหรือโครงการนำร่องเพื่อพิสูจน์ทราบถึงความเหมาะสมในการนำนวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ผ่านกิจกรรมของเครือข่าย และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และหวังว่าชุมชนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนและมั่นคง

สำหรับปีงบประมาณ 2563 สนช.ได้ปรับแผนงานโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยแบ่งการดำเนินการของหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมออกเป็น 3 แผนงานคือ

1.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อน ร่วมกับมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อช่วยพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมหรือตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ และสนับสนุนการนำผลงานดังกล่าวไปไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

2.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการสังคม มีหน้าที่บ่มเพาะผู้ประกอบการ พัฒนาแนวคิดนวัตกรรมทางสังคม โดยหวังว่าจะเกิดนวัตกรเพื่อสังคม และกิจการเพื่อสังคมที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง

3.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเยาวชน โดยบ่มเพาะเยาวชนให้มีแนวคิดด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมและธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงผลักดันให้เกิด social startup

“ปัจจุบัน NIA ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 4 หน่วย คือ 1.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา 2.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ 3.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ 4.หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” นายพันธุ์อาจกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image