บ้าน หรือ เวทีมวย! เปิดคลิปความรุนแรงที่ผู้หญิงไม่อยากเจอ พบเห็นอย่านิ่งเฉย แจ้งเบาะแส

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ออกคลิปรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว ชวนสังคมมีส่วนร่วมพบเห็นแจ้งเบาะแส ไม่นิ่งเฉย

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และบริษัท Dentsu ร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล มาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ได้จัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ชุด “การต่อสู้รายวัน” เพื่อปลุกกระแสต่อสาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวผ่านการต่อสู้บนเวทีมวย อีกทั้งต้องการสื่อสารให้เข้าใจว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

นางสาวอังคณา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มาจากสาเหตุความเชื่อ ทัศนคติ อารมณ์ การเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิด รวมถึงความไม่เข้มแข็งของกฎหมายที่ไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้หากเป็นการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัว และสังคมส่วนใหญ่มองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นสังคมควรตระหนัก ปรับเปลี่ยนทัศนคติเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หากเราเข้าไปช่วยเหลือหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไประงับเหตุในเบื้องต้น ปัญหาจะลดลง

Advertisement

นางสาวอังคณา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สถิติมีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายเฉลี่ย 5 คนต่อวัน และยังพบด้วยว่า ผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรง เลือกที่จะนิ่งเฉยไม่เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งนี้จากสถิติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว ที่มูลนิธิฯสำรวจ พบว่า สถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหน้าหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค.ปี 2561 พบว่า เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมา เป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 11.2 และเมื่อเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 61 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี 2555 มีข่าวร้อยละ 59.1 ปี 2557 มีข่าวร้อยละ 62.5 และ ปี 2559 มีข่าวร้อยละ 48.5 และยังพบด้วยว่าร้อยละ 94.9 ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือ

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า 1. ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังมีวิธีคิดและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ แสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ 2.การผลิตซ้ำวาทกรรม “ชายเป็นใหญ่” ทั้งปรากฏอย่างชัดเจนและแฝงเร้น เช่น เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน อย่าแกว่งเท้า หาเสี้ยน เมื่อเขาดีกันเราก็กลายเป็นหมา เป็นต้น ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหาทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 กำหนดให้ผู้กระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกาย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image