สธ.เร่งหาเตียงรองรับ “โควิด-19” เล็ง “รพ.วิภารามชัยปราการ” ดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นตัว

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ได้เตรียมตัวมากว่า 2 เดือนแล้ว ในส่วนของโรงพยาบาล (รพ.) คณะแพทย์ศาสตร์ และ รพ.ในสังกัด กทม. และได้หารือร่วมกับ รพ.เอกชน ในมาตรการ 1.ลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วนที่ไปรับบริการที่ รพ.ให้ไปรับยาใกล้บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในสถานพยาบาล 2.การจัดคลินิกไข้หวัด ได้ดำเนินการไปกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแยกผู้ป่วยที่เสี่ยงในการเป็นโรคไวรัสโคโรนา 2019 3.ความพร้อมเตียง สำหรับกรณีที่เป็นข่าวว่าตรวจแล้วให้ไปรอที่บ้านนั้นเป็นกรณีที่ยังไม่ได้หารือกัน แต่วันนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะหารือกับ รพ.เอกชน เพื่อจัดระบบว่า รพ.เอกชนใดที่รับตรวจผู้ป่วยแล้วก็ควรจะรับรักษาผู้ป่วยรายนั้นด้วย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม รพ.เลิดสิน ได้เปิดบริการหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (Cohort ward) แล้ว คาดว่าจะมีการเปิดใน รพ.ราชวิถี อีก 40 เตียง 3.ส่วนของยาฟาวิพิลาเวียร์ มาจากประเทศญี่ปุ่นอีก 40,000 เม็ด สำหรับการรักษาผู้ป่วย 700 ราย และมีการสั่งซื้อเพิ่ม ซึ่งไม่มีปัญหาเนื่องจากมีระบบสำรองยาทั่วประเทศ มีการจัดตั้งเตรียมหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่คล้ายคลึงกับ รพ.สนาม รองรับ เช่น กรมสุขภาพจิตประมาณ 200 เตียง รพ.บางขุนเทียน 200 เตียง รพ.ทุ่งสีกันของทหารอากาศ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ศูนย์การแพทย์กาญจนภิเษก เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากมีกรณีที่ผู้ป่วยจำนวนมากๆ เช่น วันละ 1,000 ราย สธ.มีหลักการคือ ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อจะต้องนอน รพ.2 วัน ภายใน 42 ชั่วโมง และประเมินอาการใน รพ. หากมีอาการดีขึ้นก็จะส่งให้ไปนอนที่หอพักเฉพาะหรือโรงแรม สิ่งที่จะขอความร่วมมือกับประชาชนคือ ขอให้เข้าใจหากว่ามีการเปิดหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ เช่น หอผู้ป่วยเฉพาะในพื้นที่ รพ.บางบัวทอง 2 หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปกว่า 100 เมตร เตรียมมาประท้วงเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำการเปิดหอผู้ป่วยเฉพาะใกล้บ้าน จะต้องเข้าใจว่าไม่มีการแพร่เชื้อออกไปไกลจากในพื้นที่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการมากถึงจะได้รักษาใน รพ. และผู้ที่มีอาการเล็กน้อยจะนำไปรักษาที่หอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และเดือนหน้าจะมีการคาดการณ์ว่าเดือนหน้าจะมีสถานการณ์อย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเพียงการเตรียมการว่า หากเดือนหน้าพบผู้ป่วยมาก เป็นเพียงการสมมติเหตุการณ์และเตรียมการล่วงหน้า เรื่องการเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะได้เตรียมไว้แล้ว สำหรับหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไว้สำหรับผู้ป่วยที่รอพักฟื้นตัว แต่ไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว

เมื่อถามถึงความในพร้อม รพ.กทม. เช่น รพ.บางขุนเทียน มีความพร้อมเพียงใด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สามารถเปิดหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ทันที โดยใช้บุคลากรของโรงพยาบาล โดยได้รับความร่วมมือ จาก นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เตรียมไว้ 30 เตียง พร้อมสำหรับรองรับคนไข้หากมีกรณีจำเป็น ช่วงนี้มีการคุยกันทุกวัน โดยผู้ว่าฯ กทม. ให้เตรียม 200 เตียง ซึ่งจำนวนนี้อาจต้องมีการลงขันบุคลากร ทั้ง แพทย์ และพยาบาล ทางส่วนของกรมการแพทย์ ปลัด สธ.ให้นโยบายว่า 1.ในส่วนราชการ หากที่ไหนมีสถานการณ์น้อยก็อาจจะเวียนหมอ พยาบาล ของสำนักงานปลัด หรือกรมการแพทย์ โดยขณะนี้กำลังมีการสำรวจอยู่ เช่น รพ.มะเร็ง รพ.ธัญรักษ์ ในต่างจังหวัด 2.บุคลากรที่เกษียณอายุราชการแล้ว มีการเตรียมจิตอาสาเข้ามาช่วย และ 3.เตรียมสมาคมแพทย์เกษียณอายุราชการเพื่อมาช่วยเหลืองาน ขอยืนยันว่าเป็นการเตรียมตัว แพทย์และพยาบาลที่จะมาช่วยงานเมื่อมีการเปิดหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า 200 เตียง

Advertisement

นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงความไม่พร้อมของ รพ.บางแห่ง ว่า กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นใน รพ.เอกชนขนาดเล็กที่มีปัญหาอยู่ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะทำการหารือร่วมกับตัวแทนสมาคม รพ.เอกชน เช่น รพ.วิภารามชัยปราการ ที่เตรียมเตียงไว้ 200 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการใน รพ.เอกชนขนาดเล็ก เพื่อรวมคนไปช่วยกันในที่เดียวและเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวให้แก่ รพ.เอกชนขนาดเล็ก

ผู้สื่อข่าวถามว่าการคาดการณ์ของโรคในเดือนเมษายนจะเป็นอย่างไร นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่ในหลายปัจจัย หากสังเกตว่าผู้ป่วยยืนยันในช่วงนี้จะเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศประมาณ 1 ใน 3 และ 2 ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วม เช่น เหตุการณ์ใหญ่ๆ คือ การแพร่ระบาดที่สนามมวยที่มีผู้เข้าร่วมชมแข่งขันชกมวย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม และสถานบันเทิง ดังนั้นกรณีเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ หากเราสามารถป้องกันและติดตามผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และแยกตัวเฝ้าระวังอาการให้ครบ 14 วัน ได้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในเดือนเมษายนนี้ พบผู้ป่วยในจำนวนที่ไม่มาก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และในวันนี้ได้พบผู้ป่วยยืนยันที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยจำนวน 11 ราย แต่ยังไม่พบรุ่นถัดไปที่เกิดจากผู้ที่มารับเชื้อในวันดังกล่าวเพิ่มเติม

Advertisement

“หากเราสามารถสอบสวนให้เจอและควบคุมโรคได้ จำนวนผู้ป่วยน่าจะไม่มากขึ้นเท่าไร โดยเฉพาะเดือนเมษายนที่มีอากาศร้อนมาก” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่าสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เป็นชายหรือหญิง และมีช่วงอายุเท่าไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลทางระบาดวิทยาจะพบว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่ากรณีที่พบในสถานบันเทิงและที่สนามมวยจะเป็นสถานที่ที่มีผู้ชายเข้าไปใช้บริการมากกว่าจึงมีอัตราของผู้ป่วยที่เป็นชายมากกว่าแต่เนื่องจากอยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่อาการจะไม่มีความรุนแรงและจากพบว่ายังไม่มีผู้ป่วยเด็กมากในผู้ป่วยคนที่สูงอายุก็ยังมีจำนวนน้อย ส่วนที่สำคัญคือผู้ที่ได้รับเชื้อในรุ่นแรกจะต้องระมัดระวังไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุที่อาจจะมีโรคประจำตัวและมีโอกาสที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยที่รุนแรงกว่า

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image