โควิด-19 โอกาสฟื้นฟูธรรมชาติ สัตว์ป่าปรับพฤติกรรม สัตวแพทย์ห่วง ช้างเลี้ยงในปาง

โควิด-19 โอกาสฟื้นฟูธรรมชาติ สัตว์ป่าปรับพฤติกรรม สัตวแพทย์ห่วง ช้างในปางเลี้ยง

วันที่ 26 มีนาคม นายสัตวแพทย์(นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักในสังคมโลกเวลานี้ แต่ในแง่การอนุรักษ์แล้วถือว่ามีผลดีที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างได้รับการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเวลานี้ผู้คนมีการเก็บตัวอยู่กับที่ ไม่เดินทาง ไม่ท่องเที่ยว หลายๆสถานที่จึงปิดทำการ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายของเชื้อ รวมทั้ง อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมไปถึง สวนสัตว์ จึงเป็นสิ่งที่ดีมากที่ทำให้ธรรมชาติในสถานที่เหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัว เปิดโอกาสให้สัตว์ป่า ที่เคยออกมารอนักท่องเที่ยวเพื่อขออาหาร เมื่อไม่มีใครคอยให้อาหาร สัตว์ป่าเหล่านี้จะกลับเข้าป่าไปใช้ชีวิตในธรรมชาติที่เคยเป็นมา

“เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส.มีนโยบายให้ปิดทำการอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมไปถึงสวนสัตว์ เพราะการปิดสถานที่เหล่านี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่คลายความกังวล จากการที่คนภายนอกเอาเชื้อมาแพร่ให้กับสัตว์ป่าในพื้นที่ เมื่อหมดกังวลแล้วก็จะปฏิบัติหน้าที่เรื่องของการอนุรักษ์ได้อย่างเต็มที่” นสพ.ภัทรพล กล่าว

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า ความจริงแล้ว เชื้อโคโรนา ไวรัสนั้นเป็นเชื้อที่มีอยู่ในสัตว์ ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยงตามปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเป็น โคโรนาชนิดไหน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ หากมีการแลกเปลี่ยนเชื้อกันระหว่างคนกับสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงกับสัตว์ป่า จะทำให้เชื้อเกิดการข้ามสายพันธุ์ ก่อเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรงขึ้นมาก็ได้ การป้องกันไม่ให้สัตว์ป่ากับสัตว์เลี้ยง หรือคนไปคลุกคลีกับสัตว์ป่า จึงเป็นการป้องกันไม่ให้ไวรัสพวกนี้กลายพันธุ์ได้ดีที่สุด

Advertisement

“ในแง่การอนุรักษ์แล้ว ช่วงเวลานี้ ถือว่าเป็นวิกฤตที่สร้างโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว ให้สัตว์ป่าได้ปรับพฤติกรรมของตัวเองเข้าป่าลึกเพื่อใช้ชีวิตในป่าตามธรรมชาติแต่ดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม สัตว์ที่ได้รับผลกระทบในเวลานี้ก็มีบ้างเช่นกัน ส่วนหนึ่งจะเป็นช้างที่อยู่ตามปางช้างต่างๆที่เจ้าของปางช้างได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปชมเมื่อเช่นก่อนหน้านี้” นสพ.ภัทรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image