ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ “กองทุนยุวสตาร์ทอัพ”

ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ

“กองทุนยุวสตาร์ทอัพ”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ โดยพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนัก ความตื่นตัว มีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนการเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล  ก่อให้เกิดการลงทุน  เพื่อนำประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นที่สำคัญในระดับภูมิภาค

Advertisement

สุวิทย์ เมษินทรีย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีอว.กล่าวว่า เพื่อเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก ต้องพัฒนาเยาวชนในมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปเป็นสตาร์ทอัพ โดย การพัฒนายุวสตาร์ทอัพจะต้องมีการบ่มเพาะและเร่งสร้างยุวสตาร์ทอัพ  จะร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวนกว่า 40 แห่ง สร้างและบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่นิสิต นักศึกษา ไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยงานที่ช่วยแสวงหาและพัฒนาทีมยุวสตาร์ทอัพ ผ่านหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และมีค่ายบ่มเพาะเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนายุวสตาร์ทอัพในระยะแรก เพื่อก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมแบบวิสาหกิจเริ่มต้น  ซึ่งทีมที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจำนวน 25,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงแผนธุรกิจเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรมต่อไป

Advertisement

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า นอกจากนี้ กองทุนยุวสตาร์ทอัพ ยังได้ดำเนินการพัฒนาให้เกิดการขึ้นทะเบียน ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ (certified incubator) จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อจะได้เป็นหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่ช่วยบ่มเพาะและเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งธุรกิจในช่วงเริ่มต้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาทั้งด้านธุรกิจและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้แก่ยุวสตาร์ทอัพ

ปัจจุบัน ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ ภายใต้กองทุนยุวสตาร์ทอัพ ประกอบด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ผ่านการรับรองจาก สนช. จำนวน 16 ศูนย์ กระจายทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคใต้ ที่ มหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาคกลาง ที่จุฬาลงกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

และยังมีอีกบริษัทเอกชนอีก 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท มีเดียแท็งต์ จำกัด บริษัท อัลลอนด์ ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทูเบอร์ จำกัด และบริษัท อริสโท โซลูชั่นส์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีศักยภาพทั้งในด้านการบ่มเพาะ อบรมให้ความรู้ แนะนำ นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไอเดียหรือแนวความคิด การทำต้นแบบของธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

“นี่เป็นโอกาสของนิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สนใจจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยมีศูนย์บ่มเพาะฯ เหล่านี้คอยเป็นพี่เลี้ยงในช่วงระยะแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ โดยขณะนี้ กองทุนยุวสตาร์ทอัพได้เปิดรับสมัครทั้งนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปีมาเข้าร่วมโครงการ โดยโปรแกรมการสนับสนุนทุนของกองทุนยุวสตาร์ทอัพ นั้น จะเป็นรูปแบบเงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า (90/10) คือ กองทุนยุวสตาร์ทอัพออกเงินทุนให้สูงสุด 90% และอีกอย่างน้อย 10% มาจากเงินทุนของผู้ประกอบการเอง ซึ่งในส่วนของ 10% ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบนั้น กองทุนยุวสตาร์ทอัพไม่ได้นิ่งนอนใจและผลักภาระให้แก่น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่ต้องการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ เราจึงได้ดึงหน่วยงานพันธมิตรอย่างธนาคารออมสิน เข้ามาร่วมสนับสนุนทุนทางธุรกิจ (VC) แก่ผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้กองทุนยุวสตาร์ทอัพ ดำเนินการสนับสนุนทุนใน 3 โปรแกรมหลัก คือ 1. INCUBATORS INCENTIVE PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 1,500,000 บาท 2. UNIVERSITY SEED GRANT PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 750,000 บาท และ 3. INNOVATION LABS PROGRAM วงเงินสนับสนุนสูงสุด 500,000 บาท” นายพันธุ์อาจ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการมาได้ที่เว็บไซต์ https://mis.nia.or.th ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563

ล้อมกรอบ

ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการภายใต้กองทุนยุวสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 16 ศูนย์ ทั้ง 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านการบ่มเพาะ อบรมให้ความรู้ แนะนำ นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นแนวความคิด (Idea Stage) การทำต้นแบบธุรกิจ (Prototype) ไปจนถึงการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งศูนย์ฯ ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ ที่ช่วยให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการรายใหม่ ในภาคธุรกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image