ปลัดทส.สั่งเฉียบขาด ใครเผา ยึดที่คืน พบจุดความร้อนสปปลาวนับหมื่น เหตุ หมอกควันข้ามแดน

ปลัดทส.สั่งเฉียบขาด ใครเผา ยึดที่คืน พบจุดความร้อนสปปลาวนับหมื่น เหตุ หมอกควันข้ามแดน

หมอกควัน ไฟป่า- พบจุดความร้อนสปป ลาว 10,854 จุด ต้นเหตุหมอกควันข้ามแดน ทำภาคเหนือหมอกควันท่วมเมือง ทส.เตรียมประชุม ด่วน ไทย-เมียนมา-ลาว ปลัดทส.สั่งใคร ได้รับที่จัดสรรจากทส.แล้วยังเผา จะยึดที่คืนทันที

เวลา 15.00 น.วันที่ 1 เมษายน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) สรุปสถานการณ์ปริมาณ “ฝุ่นละออง PM2.5” เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ว่า มีค่าระหว่าง  48 – 278 มคก./ลบ.ม. โดย 17 จังหวัดภาคเหนือส่วนใหญ่ ฝุ่นละออง PM2.5 ยังมีค่าฝุ่นละอองสะสมอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เมื่อเทียบกับข้อมูลรายวันแล้ว มีปริมาณลดลง รวมทั้งจำนวนจุดความร้อนก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน ซึ่งจากการคาดการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา บริเวณภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลาง  และอาจมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน

“เราพบว่า มีพื้นที่ที่ฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง) เพียง 1 จังหวัด ได้แก่  จ.อุทัยธานี ส่วน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) เกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นเพียง 2 จังหวัด ที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ได้แก่ จ.ลำพูน และ จ.ตาก  สูงสุดที่ “จ.น่าน (ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ)” 278 มคก./ลบ.ม.”นายประลอง กล่าว

อธิบดีคพ. กล่าวว่า สำหรับ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดน ยังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะใน สปป.ลาว และเมียนมา จุดความร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทำให้จังหวัดชายแดนทั้ง 2 ฝั่งของไทย ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างจัดเตรียมการประชุม VTC ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ ประเทศเมียนมา และกรมควบคุมมลพิษ สปป.ลาว ในวันที่ 3 เมษายน เวลา 13.30 น. เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเร่งด่วน

Advertisement

 

Advertisement

นายประลอง กล่าวว่า วันนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดปลัด ทส. ประชุม VTC ติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือประจำวัน” ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ทส. (ส่วนหน้า) 17 จังหวัดภาคเหนือ จ.กาญจนบุรี กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และกรมควบคุมมลพิษ โดย ปลัด ทส. มีข้อ สั่งการให้ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี เร่งจัดการปัญหาไฟป่าและการเผาอย่างเด็ดขาด ให้จุดความร้อน (Hotspot) เป็นศูนย์ภายในสัปดาห์นี้ให้เน้นย้ำกับผู้ขอใช้ประโยชน์พื้นที่จาก ทส. และผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินตามโครงการ คทช. หากไม่ปฏิบัติตามแนวทางของ ทส. โดยเฉพาะหากมีการเผาในพื้นที่ จะยกเลิกสิทธิ์ทันที

“สำหรับการเกิดไฟในพื้นที่สำคัญ พื้นที่ใกล้เขตเมือง/ชุมชน เช่น กรณี จ.แพร่ (ช่อแฮ) จ.นครสวรรค์ (อช.แม่วงก์) และ จ.อุทัยธานี (ห้วยขาแข้ง) ขอให้เร่งดับไฟให้ได้โดยทันที และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟขึ้นซ้ำอีก โดยเฉพาะกรณีไฟไหม้ใน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขอให้ดับไฟให้ได้ภายใน 2 วัน และ สั่งการให้สนับสนุน เฮลิคอปเตอร์เพื่อการส่งเสบียง กำลังพล และดับไฟ ในพื้นที่เข้าถึงยาก ตามที่มีการร้องขอ รวมถึงให้หมุนเวียนกำลังพลจากพื้นที่ใกล้เคียงไปช่วยสนับสนุนด้วย ให้สนับสนุน เฮลิคอปเตอร์ไป จ.ตาก (พื้นที่รอบต่อ จ.กาญจนบุรี) และ จ. นครสวรรค์ และหมุนเวียนกำลังพลจาก จ.พิษณุโลก ไปสนับสนุนด้วย เน้นย้ำให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องหาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ หากจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ขอให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นตัวอย่างในการป้องปรามต่อไป ทั้งนี้ ขอให้รายงานผลการดำเนินคดีให้ทราบด้วย สำหรับจังหวัดที่ต้องการกำลังพลเพิ่มเติม ให้ประสานกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ เพื่อจะได้หมุนเวียนกำลังพลไปเสริมให้ตามที่ร้องขอ

อธิบดีคพ. กล่าวว่า สำหรับกรณีหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการพบแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นของจุดความร้อน ในเมียนมา และลาว มอบหมายให้ กรมควบคุมมลพิษ เร่งประสานงานกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้  สรุปจำนวน “จุดความร้อน ในอนุภูมิภาคแม่โขง (เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย) พบว่า  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม  ในเมียนมาและลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบปริมาณ สูงสุดที่ สปป. ลาว 10,854 จุด  รองลงมา ได้แก่ เมียนมา 9,239 จุด   และ ไทย เท่ากับ  2,705 จุด ส่วน จุดความร้อน ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ พบ รวม 1,743 จุด และพบว่า จังหวัดส่วนใหญ่มีจำนวนจุดความร้อนลดลง ยกเว้น จ.อุตรดิตถ์ และ จ.เพชรบูรณ์ ที่จุดความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และ พบจุดความร้อนสูงสุด ที่ จ.น่าน 280 จุด/ รองลงมา ได้แก่ จ. เชียงใหม่ 247 จุด/ จ.อุทัยธานี 191 จุด/ และ จ. เชียงราย 149 จุด

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image