ระดม 210 ยอดฝีมือเสือไฟทั่วประเทศ ขึ้นเหนือสกัดไฟป่า ‘วราวุธ’ ลงพื้นที่แบ่งกำลัง 3 ชุด สกัดเด็ดขาด

ระดม 210 ยอดฝีมือเสือไฟทั่วประเทศ ขึ้นเหนือสกัดไฟป่า “วราวุธ” ลงพื้นที่แบ่งกำลัง 3 ชุด สกัดเด็ดขาด

หมอกควันไฟป่าภาคเหนือ วันที่ 9 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือ

นายวราวุธกล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจและติดตามสถานการณ์ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563  จนถึงวันนี้ พบว่าตอนนี้สามารถควบคุมสถานการณ์คุมไฟป่าบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้ 100% ซึ่งตั้งแต่วันนั้นมาได้มีการสนธิกำลังในการปฏิบัติงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดลาดตระเวน ชุดดับไฟป่า และชุดประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ปกครอง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ ทส. เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผา และมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้จุดความร้อนลดลง

 

 

Advertisement

 

 

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเวลานี้ กรมอุทยานฯระดมกำลังเจ้าหน้าที่เสือไฟ ซึ่งเป็นทีมที่เก่งที่สุดและมีความเชี่ยวชาญในการดับไฟป่าโดยเฉพาะ ซึ่งมีการฝึกฝนตลอดทั้งปี โดยได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เสือไฟจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จำนวน 210 คน เข้ามาช่วยดับไฟป่าภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด โดยประจำการอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 60 คน ทั้งนี้ พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าอยู่แล้ว จำนวน 2,535 คน และในภาครวมเวลานี้ มีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ระดมกำลังเข้ามาช่วยพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งสิ้น ราว 7,000 คน ยืนยันว่าทุกคนทำงานหนักมาก ทำให้เวลานี้สถานการณ์ดีกว่าที่ผ่านมามาก ปริมาณฮอตสปอต หรือจุดความร้อนลดลงไปกว่าครึ่ง

จงคล้าย วรพงศธร

 

“ตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แบบเข้มข้นมากขึ้น เพราะจากการเก็บสถิติเราพบว่า หัวไฟ หรือจุดที่เป็นต้นกำเนิดของไฟกลางป่านั้น มีระยะห่างจากชุมชนไม่เกิน 3 กิโลเมตรเท่านั้น เราเชื่อว่า ไฟที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นเพราะการลักลอบจุดของชาวบ้านทั้งสิ้น เวลานี้เราสั่งหมดแล้วห้ามเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์เด็ดขาดหากไม่มีเหตุอันควร และเจ้าหน้าที่จะต้องหาต้นตอ ของการเกิดไฟให้ได้ ทั้งนี้ ยิ่งใกล้ฤดูฝนมากเท่าไร ชาวบ้านจะต้องเร่งเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก การเผาเศษวัชพืชหรือตอซังในพื้นที่ป่าลึกๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงต้องลาดตระเวนแบบเข้มข้นมากขึ้น” นายจงคล้ายกล่าว

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image