สภาเภสัชฯ จี้รัฐสำรอง ‘ยาโรคเรื้อรัง’ คาดไม่เกิน 1 เดือนขาดแคลนหนัก

สภาเภสัชฯ จี้รัฐทำแผนสำรอง “ยารักษาโรคเรื้อรัง” ชี้ “โควิด-19” ทำอยู่ในภาวะเสี่ยงขาดแคลน คาดไม่เกิน 1 เดือนห้องยาโกลาหลแน่! 

สภาเภสัชกรรม- วันที่ 12 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และจัดเตรียมสำรองยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อนั้น ล่าสุด สภาเภสัชกรรม และภาคีเครือข่ายได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการเข้าถึงยารักษาโรคเรื้อรังในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวระบุว่า

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยาที่ใช้สำหรับโรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดระบบการบริหารจัดการทั้งการจัดหาและการกระจายยา เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงการเข้าถึงยาเหล่านี้ของผู้ป่วย ในขณะที่ยาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการยาช่วยชีวิต และยาที่ใช้ในโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ที่จำเป็นต้องใช้ยา และบางรายการต้องใช้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่ สธ.ต้องจัดระบบการบริหารจัดการต่างไปจากภาวะปกติเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของโรคกระจายไปทั่วโลก และขณะนี้ระบาดหนักในประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยาและผลิตภัณฑ์ยารายใหญ่ ไม่ว่า จีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการในการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งทั้งวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับเริ่มมีนโยบายให้สถานพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรัง 6 เดือน ทำให้มีการสำรองยาในสถานพยาบาลบางแห่งมากผิดปกติ

ขณะที่การผลิตและการนำเข้ายามีปัญหาจากการระบาดของโรค จึงเริ่มเห็นปัญหาการขาดแคลนยาบางรายการแล้ว และล่าสุดได้มีการแจ้งจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ถึงรายการยาที่อภ.ขาดจำหน่าย 1 เดือน และมากกว่า 1 เดือน และมีข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยาแห่งประเทศไทยได้สรุปปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยา

Advertisement

ล่าสุด สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้จัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคราชการและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1.รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2.กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2  เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า

Advertisement

3.ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือน หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือน ที่นานกว่าการสำรองปกติที่ 3 เดือน

4.ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5.ให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม

สภาเภสัชกรรมระบุด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขโดยด่วนเช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรคโควิด-19 ไม่เช่นนั้น อีกไม่ถึงเดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยา และผู้ป่วยอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image