สธ.เร่งผลักดันร่างนโยบายยาฯ จ่อชง ครม.อนุมัติ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพแข่งขันกว่า 3 พันล้าน

สธ.เร่งผลักดันร่างนโยบายยาฯ จ่อชง ครม.อนุมัติเพิ่มศักยภาพการแข่งขันยาชีววัตถุกว่า 3 พันล้าน

พัฒนาระบบยา- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมหารือนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2563-2565 เพื่อศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยาและชีววัตถุของประเทศ สร้างมูลค่ายาชีววัตถุกว่า 3,000 ล้านบาท ให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและสมเหตุผล นำประเทศสู่ระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ 1.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยา สมุนไพร และชีววัตถุ เพื่อความมั่นคงทางยาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.พํฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน 3.พัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 4.พัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล และ 5.สร้างเสริมกลไกการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มุ่งหวังให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยา สามารถผลิตและจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องทันท่วงที ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างนโยบายฯ แล้ว

“จะเร่งผลักดันร่างนโยบายฯ นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ พร้อมมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างคนไทยมีสุขภาวะที่ดีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” นายอนุทิน กล่าว

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม

ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ โดยมีระบบให้คำปรึกษาเพื่อการวิจัย พัฒนา และผลิต พร้อมเร่งรัดการขึ้นทะเบียนตำรับยา และส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมการจัดซื้อในภาครัฐผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตยาชีววัตถุในประเทศ จำนวน 4 ราย ได้แก่ สยามไบโอไชเอนซ์ สภากาชาดไทย ไบโอเนท-เอเซีย องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์

Advertisement

“การนำนโยบายไปปฏิบัติจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ โดยเพิ่มมูลค่าการผลิตได้มากกว่า 3,00 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาตันแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมียาสำคัญ เช่น ยารักษามะเร็ง ให้ตอบสนองต่อการดูแลด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40 รายการต่อปี รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายจากการกำหนดราคากลางของยาที่มีราคาแพง ซึ่งคาคว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้กว่า 5,000 ล้านบาท ในปี 2565 รวมทั้งการขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลสอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก” นพ.ไพศาล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image