กรมบาดาลตั้ง 100 จุดจ่ายน้ำ ริมถนน รองรับ ปชช.ร้องเจาะบ่อ 3หมื่นคำขอ เอารถมาเทียบเติมน้ำไปใช้ได้เลย

กรมบาดาลตั้ง 100 จุดจ่ายน้ำ ริมถนน รองรับ ปชช.ร้องเจาะบ่อ 3หมื่นคำขอ เอารถมาเทียบเติมน้ำไปใช้ได้เลย

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เผยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบภัยแล้ง ร้องขอเจาะบ่อบาดาลมากถึง 3 หมื่นคำขอ โดยเฉพาะเกษตรไม้ผลแปลงใหญ่ ตั้ง 100 จุดจ่ายน้ำริมถนนพร้อมงวงช้างให้ประชาชนสามารถเอารถมาเทียบเติมน้ำไปใช้ได้เลย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ปีนี้ หลายพื้นที่เผชิญปัญหาน้ำแล้ง ดังนั้น การจัดหาน้ำบาดาลเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งนี้ ตนมีนโยบายเน้น 2 เรื่องใหญ่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. เรื่องแรก คือ การจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น อาทิ การตั้งตู้น้ำดื่มอาร์โอ หรือ ตู้น้ำดื่มริมทาง โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 จุดริมถนนทางหลวงที่สำคัญและกำหนดให้ทุกจุดจะต้องมีงวงช้างให้ประชาชนสามารถเอารถมาเทียบเติมน้ำไปใช้ได้เลย เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนคุณภาพน้ำดื่มซึ่งนำน้ำบาดาลมาผลิต ได้จัดให้มีทีมผู้เชี่ยวชาญนำตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบทุก 7 – 15 วัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย นโยบายต่อมาคือการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตร ที่ปีนี้มีคำขอให้ไปขุดเจาะน้ำบาดาลมากถึง 3 หมื่นกว่าคำขอ ซึ่งกว่า 90% เป็นภาคเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรไม้ผลแปลงใหญ่ ขณะนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 60 – 70%

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า การจัดหาน้ำใต้ดินเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์การจัดการน้ำในหลายประเทศใช้กันอยู่ เพียงแต่ประเทศไทยยังเน้นการใช้น้ำผิวดิน ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำฝน แต่น้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินถือเป็นทรัพยากรจำนวนมหาศาลที่ยังสามารถนำขึ้นมาใช้ได้ โดยมีปริมาณน้ำใต้ดิน 1.13 ล้านล้าน ลบ.ม. แต่นำขึ้นมาใช้ปีละ 1.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. ขณะที่นักวิชาการเห็นว่าควรจะนำน้ำบาดาลมาใช้ปีละ 4.5 หมื่นล้าน ลบ.ม.เหลือน้ำใต้ดินที่ไม่ได้ใช้ถึงปีละ 3 หมื่นล้าน ลบ.ม.ซึ่งน่าเสียดายมาก ที่สำคัญเมื่อเทียบค่าใช้กับน้ำจากระบบชลประทานแล้วพบว่าน้ำจากระบบชลประทานมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าน้ำบาดาลมาก เพราะในต่างประเทศ อย่าง เดนมาร์ก ก็ใช้น้ำบาดาลมากกว่า 70% ดังนั้น การแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการนำน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินมาใช้ จึงน่าจะเป็นทางออกของประเทศไทย

 

Advertisement

 

Advertisement

 

 

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image