‘หมอพิเชฐ’ แนะมองยุติระบาดเป็นรายจังหวัด ชมภูเก็ต ยะลา ทำได้ดี ชี้ผลแล็บไม่ได้ผิดพลาดแค่คลาดเคลื่อน

‘หมอพิเชฐ’ แนะมองยุติระบาดเป็นรายจังหวัด ชมภูเก็ต ยะลา ทำได้ดี ชี้ผลแล็บไม่ได้ผิดพลาดแค่คลาดเคลื่อน

นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า #โควิด19ที่ปลายด้ามขวานแล็บไม่ได้ผิดพลาดแค่ผลคลาดเคลื่อน

กลับมาอัพเดทสถานการณ์กันหน่อย วันนี้ 7 พฤษภาคม 2563 ไทยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 3 ราย รวมป่วยสะสม 2,992 ราย หายแล้วกลับบ้านได้ 92.65% เสียชีวิต 55 ราย อัตราป่วย(ติดเชื้อ)ตาย 1.84 % อัตราป่วย 4.5 ต่อแสนประชากร อัตราตาย 0.01 ต่อแสนประชากร

ข้อมูลระดับโลก นับจำนวนผู้ป่วยสะสม 10 อันดับแรก จากมากไปน้อย คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี บราซิล อิหร่าน ส่วนไทยอันดับ 64

ถ้าดูอัตราป่วย (ติดเชื้อ)ต่อแสนประชากร 10 อันดับแรก จากมากไปน้อย คือ สเปน สหรัฐอเมริกา อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ตุรกี อิหร่าน รัสเซีย บราซิล ส่วนไทยอันดับที่ 159

Advertisement

ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจะบอกภาระหรือปริมาณงานที่ระบบสาธารณสุขต้องรองรับหนักเบาแค่ไหน อัตราป่วยต่อแสนจะบอกถึงขนาดปัญหาที่มาคุกคามประชาชนแต่ละประเทศมากน้อยแค่ไหน

อัตราป่วยต่อแสนประชากรยังสะท้อนถึงความสามารถในการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละพื้นที่ได้ ส่วนอัตราป่วยตายนั้น นอกจากช่วยบอกความรุนแรงของโรคแล้ว ยังช่วยบอกความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย และความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วย

มาดูข้อมูลในประเทศกลุ่มอาเซียน ผมวิเคราะห์ข้อมูลเรียงตามอัตราป่วยต่อแสนประชากร (ในวงเล็บคือจำนวนรายป่วย/ตาย) ดังนี้ สิงคโปร์ 361 (20,939/20) มาเลเซีย 20 (6,467/107) ฟิลิปปินส์ 9.5 (10,343/685) อินโดนีเชีย 4.7 (12,776/930) และ ไทย 4.5 (2,992/55)

Advertisement

ถ้าเรียงตามอัตราป่วย(ติดเชื้อ)ตายคิดเป็นร้อยละ ในวงเล็บเป็นอัตราตายต่อแสนประชากร) ได้ดังนี้ อินโดนีเชีย 7.27 (0.34) ฟิลิปปินส์ 6.6 (0.63) ไทย 1.84 (0.01) มาเลเซีย 1.65 (0.33) และ สิงคโปร์ 0.1 (0.34)

จะเห็นว่า ลำดับตามอัตราตายต่อแสนประชากร กับ อัตราป่วยตาย จะแตกต่างกัน เพราะมีที่มา และ ที่ใช้ ต่างกัน เช่น อินโดนีเชียอัตราป่วยตายสูงกว่าสิงคโปร์มาก แต่อัตราตายเท่ากัน

กลับมาดูข้อมูลของไทยเรา ถ้าคิดว่า การระบาดระลอกแรกหรือคลื่นลูกแรก (Episode I) จบหรือยัง หลักการคือ พิจารณาว่า ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 เท่าของระยะฟักตัวของโรค ก็คือ 28 วัน

หากคิดในภาพรวมของประเทศ แม้เราจะมีผู้ป่วยใหม่ไม่เกิน 10 รายมากว่าสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้านิยาม หากใช้สเกลหรือขอบเขตประเทศ (ผู้ป่วยใหม่เป็น 0) โอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

จึงควรพิจารณาเป็นสเกลจังหวัด (โรคที่พาหะนำโรคไปได้ไม่ไกล มักใช้พื้นที่การระบาดเป็นหมู่บ้าน หรือ ตำบล เช่น โรคไข้เลือดออก) แต่โควิด-19 เคลื่อนที่ไปกับคนที่เดินทางไปได้ไกลกว่ายุงลาย จึงต้องใช้สเกลใหญ่ขึ้นเป็นจังหวัด

ขณะนี้มีจังหวัดที่การระบาดโควิด-19ระลอกแรก จบลงแล้ว (ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน) 39 จังหวัด กลุ่มนี้ถือว่า โชคไม่ดี (คนไข้ติดมาจากที่อื่น) แต่ฝีมือดี สามารถควบคุมป้องกัน (prevention & control) ไม่ให้เกิดผู้ป่วยรุ่น 2-3 ได้

กลุ่มไม่มีการระบาดเลย 9 จังหวัด ถือว่า โชคดี และฝีมือดี สามารถป้องกัน (prevent) ไม่ให้มีผู้ป่วยได้

กลุ่มที่ยังคงมีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน (ระบาดยังไม่จบ) 29 จังหวัด ถือว่า โชคไม่ดี เพราะมีผู้ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่หรือนอกประเทศ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง มาเรื่อยๆ ทำให้ยังมีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ ป้องกันยาก แต่ฝีมือดี สามารถควบคุมโรค (disease control) ไม่ให้กระจายเป็นรุ่นที่ 2-3 ได้

การป้องกันโรคสำหรับบุคคล จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

ถ้าทำให้คนปกติแข็งแรงยิ่งขึ้นหรือทำให้คนที่เสี่ยงไม่ป่วย เรียก การป้องกันปฐมภูมิ (ส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค) สำคัญมากกรณีเกิดโรคระบาด

ถ้าทำให้คนที่ป่วยแล้วหายหรือไม่พิการ เรียก การป้องกันทุติยภูมิ (รักษา) และ ถ้าทำให้คนที่พิการแล้วกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติหรือพึ่งพิงน้อยที่สุดได้ เรียกว่า การป้องกันตติยภูมิ (ฟื้นฟู)

มาตรการคลายล็อคเฉพาะพื้นที่และกิจกรรมสามารถดำเนินการได้ในจังหวัดที่จบการระบาดแล้ว แต่ยังต้องคงความเข้มข้นเคร่งครัดของบุคคลในการป้องกันตนเอง หรือ “การ์ดบุคคล” ต้องไม่ตก

มาดู 5 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนป่วยมาก ในวงเล็บคือ อัตราป่วยต่อแสนประชากร) เรียงจากมากไปน้อย คือ กรุงเทพฯ 1,526 ราย(26.9ต่อแสน) ภูเก็ต 220 ราย (53ต่อแสน) นนทบุรี 157 ราย (12.5 ต่อแสน) ยะลา 119 ราย (22.27 ต่อแสน) และ สมุทรปราการ 114 ราย (8.53 ต่อแสน)

ผมสนใจกรณีภูเก็ต เนื่องจากรับศึกหนักมาก ทั้งหน่วยงานคัดกรองเฝ้าระวังป้องกันควบคุมรักษาโรคของ รพ.และหน่วยงานสาธารณสุขและการตรวจแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ตที่ทำงานกันหนักมาก และยาวนานมาตั้งแต่เริ่มระบาดใหม่ๆ

ดูตัวเลขอัตราป่วยแล้วสูงที่สุดในประเทศ ทั้งๆที่ทำงานหนักทั้งคัดกรอง เชิงรุก เชิงรับกันทุกภาคส่วน แต่ขณะนี้วันนี้ไม่มีผู้ป่วยใหม่แล้ว ภูเก็ตไม่มี รพ.มหาวิทยาลัยเหมือนกรุงเทพฯปริมณฑล ทรัพยากรในการรับมือการระบาดต่างกันมาก

ต้องขอชื่นชมท่าน ผวจ.และทีมงานของภูเก็ตจริงๆ กับพื้นที่เกาะเล็กๆที่มีคนในและคนนอกพื้นที่เข้าไปอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ประชากรจากทะเบียนราษฎร์ 416,582 คน แต่คาดการณ์ประชากรอยู่จริงราวสามเท่า คือ 1.2 ล้านคน

ภูเก็ตตรวจคัดกรองเกือบหมื่นคน (9,420 ราย) เป็นกลุ่มเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) 5,385 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชนเสี่ยง 4,035 ราย พบติดเชื้อ 220 ราย

ถ้าจำแนกรายละเอียดพบว่า เป็นคนที่มีทะเบียนบ้านภูเก็ตแค่ 85 ราย ทะเบียนบ้านนอกภูเก็ต 93 ราย ชาวต่างชาติ (18 สัญชาติ) 42 ราย

ดังนั้น จำนวนป่วย 220 ราย ควรนำมาคิดในแง่ภาระงาน (workload) ที่หนักหนาเอาการของจังหวัดที่มี รพ.ทั่วไปแค่ 1 แห่ง ต่างจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีหน่วยบริการระดับสูงเยอะมาก

หากจะพิจารณาว่า ทีมภูเก็ตสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ ลดภัยคุกคามประชาชนคนภูเก็ตจากโรคโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน ควรคิดจากจำนวนป่วย 85 ราย จากประชากร 416,582 คน

อัตราป่วยจะเหลือแค่ 20.4 ต่อแสนประชากร มิใช่ 52.8 ต่อแสนประชากร หรือถ้าจะคิดรวมทั้งหมด คงต้องคิดประชากรอยู่จริงราว 1.2 ล้านคน อัตราป่วยจะอยู่ที่ 18.3 ต่อแสนประชากร แสดงว่า แม้ภาระงานที่หนัก แต่ทีมภูเก็ตก็สามารถรับมือได้ดี

อีกจังหวัดที่อยากชื่นชมและให้กำลังใจคือ ยะลา ผมยังไม่มีข้อมูลแยกกลุ่มป่วยกรณีของยะลาว่า อยู่ในหรือนอกทะเบียนบ้าน หรือ ต่างชาติเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะคล้ายๆกับภูเก็ตเพราะมีการข้ามเขตแดนได้ง่าย และทรัพยากรรับมือการระบาด คล้ายภูเก็ต

นอกจากการคัดกรองตามเกณฑ์แล้ว บางจังหวัดยังลงไปค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชนด้วย เช่น กรุงเทพฯ คัดกรอง 3,581 ราย พบบวก 1 ราย อัตราการพบเชื้อ 0.03%

ภูเก็ต แยกคัดกรองเป็น 4 ชุมชนเสี่ยง รวม 2,592 ราย พบติดเชื้อ 26 ราย อัตราการพบเชื้อ 1% (แตกต่างกันมากใน 4 พื้นที่) กระบี่คัดกรอง 477 รายพบเชื้อ 3 ราย อัตราการพบเชื้อ 0.63%

ยะลา ทำการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 3,277 ราย พบติดเชื้อ 20 ราย อัตราการพบเชื้อ 0.61% ขณะเดียวกันก็มีข่าวหลุดมาว่า มีติดเชื้อ 40 ราย แต่ยังไม่ชัวร์ ขอตรวจซ้ำก่อน

คนที่ลุ้นอยากให้มีผู้ป่วยรายใหม่น้อย ก็ใจคอไม่ค่อยดี คนที่ไม่ค่อยจะไว้ใจระบบรายงานข้อมูลผู้ป่วย ก็สงสัยว่า จะหมกเม็ดข้อมูลกันหรือยังไง

แต่สุดท้ายการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจมาตรวจยืนยันห้องแล็บอ้างอิงที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็สรุปว่า ทั้ง 40 รายให้ผลลบทั้งหมด

เกิดอะไรขึ้นกับผลแล็บ 40 รายนั้น จากการวิเคราะห์ระบบงานในห้องแล็บที่ รพศ.ยะลา ทีมเจ้าหน้าที่ห้องแล็บยะลาเอง ค้นพบความผิดปกติที่อาจจะส่งผลให้ค่าแล็บคลาดเคลื่อนได้ จึงแจ้งระงับการออกผลแล็บดังกล่าวไว้ก่อน เพราะ อาจจะเป็นผลบวกลวงหรือผลบวกปลอม (false positive) ได้

จึงได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลาซ้ำ ปรากฎว่า ได้ผลลบทั้ง 40 ตัวอย่าง

เมื่อผลตรวจของ 2 ห้องแล็บแตกต่างกัน จึงต้องส่งตรวจยืนยันอีกขั้นหนึ่งที่สถาบันวิจัยฯดังกล่าว และผลก็ออกมาเป็นลบ จึงรายงานผลให้กรมควบคุมโรคต่อไป

ในช่วงแรกของการระบาดในไทย แล็บผลบวกจะใช้ตรวจ 2 แล็บ 2 ยีน ยืนยันตรงกัน คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศูนย์โรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ก็พบว่า 2 แห่งนี้ ก็มีที่ผลไม่ตรงกัน ต้องเก็บตัวอย่างมาทำซ้ำ

ปกติแล้ว การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยจะกระทำโดยแพทย์ (clinician) ต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย แล้วจึงส่งตรวจแล็บมาช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย

บ่อยครั้งที่ผลแล็บไม่ไปกับอาการทางคลินิกของผู้ป่วย แพทย์ก็ต้องตัดสินใจว่า จะวินิจฉัยตามสิ่งที่พบจากการตรวจผู้ป่วย หรือจากแล็บ แต่มักจะเลือกการรักษาตามที่แพทย์ตรวจมากกว่า

โรคส่วนใหญ่ วินิจฉัยจากประวัติ 70% จากตรวจร่างกาย 20% และจากแล็บหรือตรวจพิเศษ 10% สมัยนี้เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาก แพทย์ก็อาศัยห้องแล็บช่วยวินิจฉัยมากขึ้นด้วย

การวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต้องอาศัยแล็บฟันธง จึงจะเป็นผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) แต่การรักษาของแพทย์จะใช้ทั้งลักษณะทางคลินิก ผลแล็บ ผลเอ๊กซ์เรย์ประกอบกัน ถ้าลักษณะอาการเหมือน แต่แล็บผลลบ แพทย์ก็ตัดสินใจให้การรักษาได้

การตรวจแล็บหรือการตรวจพิเศษใดๆก็ตาม สิ่งที่เราต้องการ คือ มีความแม่นยำสูง เวลาจะดูความแม่นยำ ก็จะดูจากความไว (sensitivity) และ ความจำเพาะ (specificity) ของแล็บหรือวิธีทดสอบนั้น

การตรวจเชื้อไวรัสซาร์โควี-2 (โควิด-19) ที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐานตอนนี้ เพื่อใช้ยืนยันการติดเชื้อ คือ real time RT PCR ที่ห้องแล็บเครือข่ายของกรมวิทย์ทุกแห่งใช้ขณะนี้ รวมทั้งที่ยะลาด้วย

เป็นวิธีที่มีความไวสูง (95-98%) และ ความจำเพาะสูง (98-100%) เป็นการตรวจยีนจำเพาะ 2 ยีน (เกณฑ์องค์การอนามัยโลก ให้ใช้แค่ 1 ยีนได้)

ความไว มี 2 ชนิด คือ ความไวจากการวิเคราะห์ (Analytic sensitivity) การตรวจนี้ใช้ความไวแบบนี้ ดูจากปริมาณต่ำสุดที่ตรวจพบได้ (Limit of detection; LOD) ค่าที่กำหนด คือ 1,000 ตัว (copy)

แต่วิธีที่กรมวิทย์ใช้อยู่ที่ 100 ตัว (copy) ข้อมูลจากทีมแล็บบอกว่า แค่มี 40 ตัว ก็เจอแล้ว แสดงว่า วิธีนี้มีความไวสูงมาก

ความไวอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ความไวทางคลินิก (clinical sensitivity) จะเป็นการทดสอบในผู้ป่วยว่า ถ้าผู้ป่วยหรือติดเชื้อ 100 คน วิธีตรวจนี้จะตรวจให้ผลบวกกี่คน คิดเป็น % มักจะใช้ในกรณีของชุดทดสอบอย่างไว (rapid test) เทียบเคียงผลกับแล็บมาตรฐาน

ห้องแล็บเครือข่ายทุกแห่งจะผ่านการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ มีนักเทคนิคการแพทย์ มีเครื่องตรวจเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม มีห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 2 ผ่านการทดสอบความชำนาญ และมีระบบควบคุมคุณภาพกับระบบรายงานผลตามเกณฑ์มาตรฐาน

ครูแพทย์เคยสอนไว้ว่า ไม่มีอะไร 100% ในเมดดิซีน (การแพทย์) ในทางแล็บก็เหมือนกัน มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนของผลแล็บได้เช่นกัน เพราะ เรายอมรับความไวที่มากกว่า 95% ความจำเพาะมากกว่า 98% จึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ 2-5 %

ความคลาดเคลื่อนดังกล่าว อาจเกิดจากตัวคนทำแล็บ (human error) เครื่องมืออุปกรณ์ (equipment error) และ ระบบ (system error)

ผลที่ได้จากความคลาดเคลื่อน อาจเป็นผลบวกลวงหรือปลอม คือ ไม่มีแต่ตรวจว่ามี หรือ ผลลบลวงหรือปลอม คือ มีแต่ตรวจว่าไม่มี เวลาแพทย์จะใช้ค่าแล็บประกอบการวินิจฉัยหรือรักษาผู้ป่วย จะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเสมอ

การทำระบบมาตรฐานจะเป็นตัวช่วยลดความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ลง จะต้องมีระบบควบคุมคุณภาพภายนอก และ ควบคุมคุณภาพภายใน ให้คงสภาพมาตรฐานและคุณภาพ หากเกิดความคลาดเคลื่อน เจ้าหน้าที่แล็บ หรือ ผู้ประเมิน จะตรวจพบได้

มาตรฐานการตรวจ real time RT PCR นี้ ขณะตรวจแล็บ จะต้องมีตัวควบคุมหรือตัวเปรียบเทียบ (control) อยู่ด้วยเสมอ

มีทั้งตัวเปรียบเทียบผลบวกหรือตัวเชื้อเปรียบเทียบ (Positive control) เมื่อตรวจไปพร้อมกับตัวอย่างส่งตรวจ หลอดนี้จะต้องให้ผลบวกเสมอ

ส่วนตัวเปรียบเทียบผลลบ (Negative control) มักใช้น้ำเปล่า เมื่อตรวจแล้ว จะต้องใ้ห้ผลลบเสมอ

กรณี 40 ตัวอย่างที่ยะลา ทีมแล็บตรวจพบว่า Negative control ให้ผลเป็นบวก จึงรู้ว่า เกิดความคลาดเคลื่อนของผลแล็บขึ้น จึงรีบรายงานจังหวัดขอระงับผลทดสอบดังกล่าวเพื่อทบทวนสาเหตุต่อไป ถือเป็นการดำเนินตามมาตรฐานที่กำหนด

คาดว่า น่าจะเกิดการปนเปื้อนเชื้อในขั้นตอนใดขึ้นตอนหนึ่งในระบบการตรวจวิเคราะห์ (system error) ศูนย์วิทย์สงขลากับทีมผู้เชี่ยวชาญลงไปติดตามดูแล้ว พบข้อคลาดเคลื่อนเล็กน้อย (minor) สามารถปรับปรุงได้ไม่ยาก มิใช่ความคลาดเคลื่อนหลัก (major)

ต้องชื่นชมทีมห้องแล็บ รพศ.ยะลา ที่สามารถตรวจพบความคลาดเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว แก้ไขได้อย่างทันท่วงที แม้จะมีภาระงานตรวจที่หนักมาก

กลางวันทำแล็บผู้ป่วยทั่วไป กลางคืนทำแล็บโควิด-19 แทบไม่ได้พักผ่อนกัน ส่งกำลังใจให้ทีมงานทุกท่าน ถือเป็น “อัศวินนิรนาม” ครับ เหนื่อยยากอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

ส่วนเรื่องตรวจแล็บวิธีอื่นๆ ตอนนี้ก็มีการศึกษาวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งแลมป์เทสท์ คริสเปอร์เทสท์ หรือ ชุดทดสอบอย่างไวต่างๆ รวมถึงการตรวจตัวอย่างรวม (pool sample)

หรือการตรวจทางน้ำลาย กองเชียร์ที่ลุ้นๆอยู่ อดใจอีกนิดครับ รอทดสอบความไว และความจำเพาะอีกหน่อย ชัวร์แล้วคงจะได้นำมาใช้จริง เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายครับ

จังหวัดเล็กๆอย่างภูเก็ต และ ยะลา ทีมี ทรัพยากรด้านสาธารณสุขไม่มาก มีเฉพาะ รพ.ประจำจังหวัด อำเภอ ตำบล เท่านั้น อาจมี รพ.เอกชนมาช่วยบ้าง

แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงในการระบาด จากการเดินทางระหว่างประเทศ การเข้าออกของคนนอกจังหวัดมากสามารถรับมือได้อย่างดี ทั้งค้นหาเชิงรุก และเชิงรับ ภายใต้การนำทีมของท่านผู้ว่าฯและทุกภาคส่วน

ต้องขอชื่นชม และขอบคุณครับ เป็นหน้าด่านที่ป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของประเทศด้วย อย่ามองภูเก็ตและยะลาในแง่ลบครับ

อย่าตีตราบาป (stigma)ให้ผู้ป่วย ญาติ หรือผู้คนที่มาจากจังหวัดที่มีผู้ป่วยครับ สิ่งสำคัญคือ ตัวเราเองต้องรู้จักป้องกันตัวเองตลอด มีสติเตือนใจตลอด

ทุกครั้งที่ออกจากบ้านนั่นคือ ความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะออกไปต่อแถวซื้อเหล้าเบียร์ หรือ ต่อแถวใส่บาตรทำบุญ ไปแจกของ ก็เสี่ยงเหมือนกันครับ หรือจะออกไปทำดีหรือทำไม่ดี ก็เสี่ยงคือกัน ไวรัสมันไม่ยกเว้นครับ

ขอจบท้ายด้วยกลอนที่ผมเขียนเองบทนี้ครับ ทุกคนต้องทำ ไม่ใช่คุณนะทำ แต่ฉันไม่ทำ ไม่ได้ครับ

“ทำงาน”ดี มีคุณค่า ต้องกล้าสู้
“ด้วย”เรารู้ เร่งรัด พิพัฒน์ผล
“มือ”ลงแรง แกร่งจริง ทุกสิ่งดล
“มันยาก”ล้น ล่วงผ่าน ประสานใจ
“ทำงาน”น้อย คอยมุสา วาจาเอ่ย
“ด้วย”คุ้นเคย แค่จำนรรจ์ อันเฉไฉ
“ปาก”เพ้อพร่ำ น้ำคำ ตอกย้ำไป
“มันง่าย”ไหม ไม่ลงแรง พูดแข่งกัน

นพ.พิเชฐ บัญญัติ
แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
7/5/2463

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image