“สวนลอยฟ้า” สะพานพระปกเกล้าคืบ 97% จ่อตั้งชื่อ-เปิดใช้ มิ.ย.นี้

“สวนลอยฟ้า” สะพานพระปกเกล้าคืบ 97% จ่อตั้งชื่อ-เปิดใช้ มิ.ย.นี้

สวนลอยฟ้า- วันที่ 12 พฤษภาคม นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายโกสิน เทศวงษ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค) โดยมีผู้อำนวยการเขตธนบุรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระนคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

นางวัลยา เปิดเผยว่า สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค) เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้ และปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว เพื่อเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน ทางจักรยาน และมีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน – คลองสาน

Advertisement

“ปัจจุบันงานคืบหน้าร้อยละ 97 เหลือเนื้องานอีกร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เป็นการปลูกต้นไม้ เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และการล้างทำความสะอาดพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 โดยจะมีการประชุมคัดเลือกชื่อที่ชนะการประกวดตั้งชื่อสวนสาธารณะลอยฟ้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้” นางวัลยา กล่าว

ทั้งนี้โครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถ สะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง 0.80 เมตร ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9 เมตร เมื่อเทียบกับสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาออกจะอยู่ระดับสูงกว่าประมาณ 2 เมตร ที่ปลายสะพาน และระดับเท่ากันที่กลางสะพาน ส่วนสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาเข้าจะมีระดับเท่ากันที่ปลายสะพานฝั่งธนบุรี ส่วนปลายสะพานฝั่งพระนครเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร ส่วนปลายสะพานฝั่งธนบุรีเป็น โครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image