รามาฯเปิดตัวแบบประเมินความเสี่ยง’โรคไต’ผ่านสมาร์ทโฟน รู้ล่วงหน้า 10 ปี

ภาพจากเว็บไซต์รามาฯ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทย แถลงข่าวโครงการว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลานานถึง 20 ปี รวมถึงการตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งแบบประเมินนี้ได้รับการพัฒนาจากข้อมูลของผู้เข้าร่วมวิจัยกว่า 3,000 คน ติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยอาศัยวิธีวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นแบบประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในอนาคตของคนไทย ดังนั้น แบบประเมินจึงมีความแม่นยำและเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคของคนไทย

รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า แบบประเมินนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยที่ยังไม่เป็นโรคไต โดยสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองในการเกิดโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า หากประเมินพบว่าตนเองมีความเสี่ยงสูง จะช่วยเตือนให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คุมอาหารเค็ม คุมน้ำตาล ในกรณีที่เป็นเบาหวานหรือวัดความดันโลหิต รับประทานยาความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจติดตามการทำงานของไตกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแบบประเมินยังมีประโยชน์สำหรับแพทย์ในการที่จะเลือกติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด หากจะเปรียบเทียบแบบประเมินนี้ก็คล้ายการไปดูดวง ถ้าดวงไม่ดี ก็อาจไปทำบุญเพื่อให้ดวงดีขึ้น

น.ส.กฤติกา สราญบุรษ นักวิจัยหลักของโครงการ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาแบบประเมินความเสี่ยง 2 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ใช้ข้อมูลทางคลินิกทั่วไป ประกอบด้วยอายุ เพศ ประวัติโรคเบาหวาน รอบเอว และความดัน มีความแม่นยำร้อยละ 70 และแบบที่ 2 ใช้ข้อมูลคลินิกร่วมกับการเจาะเลือด วัดค่าน้ำตาล ค่าการทำงานของไต (ครีแอทินิน) จะเพิ่มความแม่นยำถึงร้อยละ 80

นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ แพทย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า แบบประเมินนี้ได้จากการติดตามพนักงานการไฟฟ้าฯทุก 5 ปีและทุก 10 ปี เพื่อดูว่าใครบ้างที่เป็นโรคหัวใจและไต จากนั้นทำการวิเคราะห์แล้วคำนวณความเสี่ยงได้ว่ามีปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดโรคไตได้มากน้อยแค่ไหน จึงนำมาพัฒนาเป็นแบบประเมินนี้

Advertisement

“จุดเด่นของแบบประเมินนี้คือ ใช้ง่าย โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานที่ทุกคนสามารถตรวจเองได้สำหรับแบบประเมินแบบที่ 1 และแบบที่ 2 ตรวจในคลินิกใกล้บ้าน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของตนเองได้ที่เว็บไซต์ รพ.รามาฯ http://med.mahidol.ac.th โดยเลือกเข้าไปที่แบบประเมินโรคไต หรือสแกน QR Code สำหรับใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งสามารถสแกนได้จากหน้าเว็บไซต์ของ รพ.รามาฯ” นพ.ปริญญ์กล่าว

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างภาระให้กับตัวผู้ป่วยเองรวมถึงภาระต่อระบบสุขภาพของประเทศ ปัจจุบันความชุกของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันประมาณ 1-2 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีปัญหาโรคไตร่วมด้วย ข้อมูลจากสมาคมโรคไตพบมียอดผู้ป่วยโรคไตกว่า 7 แสนคน ดังนั้นหากสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มต้นก็จะทำให้รู้ความเสี่ยงของตัวเอง และสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ ทั้งนี้คาดว่าแบบประเมินความเสี่ยงตัวใหม่นี้จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนสนใจและเข้าถึงการคัดกรองมากขึ้น

S__126763022

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image