จุติ – หม่อมเต่า ลงพื้นที่ช่วย ปชช.กลุ่มเปราะบางย่านประเวศ เตรียมฝึกอาชีพ สร้างรายได้

จุติ – หม่อมเต่า ลงพื้นที่ช่วย ปชช.กลุ่มเปราะบางย่านประเวศ เตรียมฝึกอาชีพ สร้างรายได้

จุติ – เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ชุมชนเฟื่องฟ้า ถนนเฉลิมพระเกียรติ ซอย 39 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความยากลำบาก และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นายจุติ กล่าวว่า ชุมชนเฟื่องฟ้า ประกอบด้วย 122 ครัวเรือน 360 คน แบ่งเป็นเด็กและเยาวชน 101 คน ผู้สูงอายุ 51 คน และวัยทำงาน 208 คน อีกทั้งมีกลุ่มผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง 3 คน คนพิการ 2 คน และผู้ด้อยโอกาส 6 คน สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ปัจจุบัน ชุมชนเฟื่องฟ้าเป็นชุมชนเข้มแข็ง โดยมีการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนมาอย่างต่อเนื่องและร่วมกับคณะทำงานจิตอาสา เข้าร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เขตประเวศ กทม. ซึ่งเป็นเวทีกลางในการขับเคลื่อนงานร่วมกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ด้านชุมชน เพื่อการปรับใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การปลูกผักไร้สารเพื่อบริโภคเองภายในชุมชน การสร้างบ้านกลางเพื่อรองรับและดูแลผู้สูงอายุ และการพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มเยาวชน เช่น บริการเสริมสวยและซักอบรีด เป็นต้น

นายจุติ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ กระทรวง พม. ลงพื้นที่ชุมชนเฟื่องฟ้าเป็นชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการสังคมจากภาครัฐ ซึ่งชุมชนเช่นนี้เป็นชุมชนตกสำรวจที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าภาพดูแลและยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวง พม. เข้ามาดูแลช่วยเหลือชุมชน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยหางาน รับสมัครงาน และฝึกทักษะอาชีพ รวมทั้งบริการประกันสังคมเคลื่อนที่กระทรวงมหาดไทย โดย กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิต และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เพื่อดูแลสุขอนามัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ตนได้รับข้อร้องเรียนจากชุมชนว่าไม่อยากย้ายไปพื้นที่ใหม่ แต่ประสงค์จะอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม โดยขอเช่าที่ และจะให้มีการจัดระเบียบชุมชนใหม่ อีกทั้ง ขอให้มีการส่งเสริมอาชีพในชุมชน อาทิ พ่อครัว แม่ครัว แม่บ้าน ช่างเสริมสวย และบริการซักอบรีด

Advertisement

ซึ่งขณะนี้ ยังขาดวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพในชุมชน ทั้งนี้ หาก ชุมชน หรือประชาชน ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 สามารถขอความช่วยเหลือมายังศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลืออย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image