ปลัด สธ.ยันสอบ “หมอชาญชัย” ทำตามหน้าที่ หากต้องแตกแยกในองค์กร ก็ช่วยไม่ได้!

ปลัด สธ.ยันสอบ “หมอชาญชัย” ทำตามหน้าที่ หากต้องแตกแยกในองค์กร ก็ช่วยไม่ได้!

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. และ น.ส.สุชาฎา วรินทร์เวช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต แถลงกรณีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ขอนแก่น ไปปฏิบัติหน้าที่กองบริหารการสาธารณสุข สธ.เนื่องจากถูกตรวจสอบเรื่องรับเงินบริจาคบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล และมีพฤติกรรมขัดขวางการสอบสวนและข่มขู่พยาน

นพ.สุขุม แถลงว่า กรณีการสอบสวนวินัยร้ายแรงฯ นั้น ยังไม่ได้ระบุว่าผิดวินัยร้ายแรง แต่จากการสืบข้อเท็จจริงคือ มีมูล จึงนำไปสู่การสอบสวนวินัยฯ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรณี รพ.ขอนแก่น ไม่ใช่ว่าเป็นแห่งแรก เพราะตนในฐานะปลัด สธ. ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องปฏิบัติตามระเบียบในเรื่องการรับเงินบริจาค และเรื่องอื่นๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ แต่ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่า มีโรงพยาบาล 12 แห่งปฏิบัติผิดระเบียบราชการ โดยหากพบว่ามีผู้ถูกกล่าวหา ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรการป้องกันการทุจริต คือ 1.ให้พักราชการหรือออกจากราชการ 2.ย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่แทน

“ที่ผ่านมา ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบราชการและข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่ามีมูล ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการ หากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้ง ในสมัยที่ผมเป็นปลัดกระทรวงมานั้น ได้มีการตรวจสอบผู้อำนวยการและผู้อำนวยการระดับสูงรวมแล้ว 12 คน โดย 6 คน มีโทษไล่ออกไปแล้ว อีก 6 คน อยู่ระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งกรณีคล้ายกับ รพ.ขอนแก่น และอื่นๆ” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ยงยศ กล่าวว่า รพ.ไม่สามารถเรียกรับเงินจากบริษัทยา หรือเวชภัณฑ์ได้ ดังนั้น ในกระบวนการที่ รพ.ขอนแก่น ถูกร้องเรียนพร้อมแนบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า มีการเรียกรับจากบริษัทต่างๆ มาตลอด จึงมาสู่กระบวนการสืบข้อเท็จจริง และพบว่ากระบวนการนั้นยังดำเนินการอยู่ หลังจากที่ รพ.ได้รับหนังสือเวียนแล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้มีการลดตำแหน่งของ นพ.ชาญชัย และยังได้ค่าตอบแทนเงินเดือนประจำตำแหน่งตามเดิม

“ลักษณะการข่มขู่พยานในลักษณะการแสดงออก จากการที่มีบางวิชาชีพหลักของ รพ.ขอนแก่น ไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากมีความเห็นที่ต่างกัน แต่จะเห็นภาพของเจ้าหน้าที่ของ รพ.บางส่วนไปที่ศาลากลาง หรือแพร่ข้อมูลในโซเซียล เกิดความไม่สงบ และไม่เป็นการจัดการที่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยข้าราชการหากมีข้อข้องใจควรจะร้องเรียกตามลำดับ เราไม่เคยคิดว่าจะไม่ฟัง” นพ.ยงยศ กล่าว

Advertisement

น.ส.สุชาฎา กล่าวว่า เงินบริจาค เกิดจากวัฒนธรรมที่คุ้นชินในการรับเงินบริจาคมาตลอดเวลา โดยเงินที่จะเข้ากองกลางจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเข้ามาเป็นเงินแผ่นดิน (Public Sector) โดยเงินบริจาคจะต้องให้ด้วยความสมัครใจ บริษัทยาจะมอบให้ร้อยล้านก็ย่อมได้ ตราบใดที่เป็นการสมัครใจบริจาค ยกเว้นการสร้างเงื่อนไข เช่น การจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งไม่สามารถเรียกว่าเงินบริจาคได้ แต่ต้องเรียกว่า “เรียกรับผลประโยชน์”

น.ส.สุชาฎา กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับทราบเรื่องร้องเรียนมากมาย จึงได้มีมาตรการป้องกันการทุจริตในการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยเสนอไปยัง ครม. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ขณะที่ สธ.ได้มีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 และได้แจ้งหนังสือเวียนไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ถึง 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2561 จากนั้นก็มีหนังสือไปอีกวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 โดยกล่าวถึงเรื่องของการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ในท่อน 1.3.1 ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อ ทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล โดยมีหลักการสำคัญ 2 อย่าง คือ 1.เงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช่ในการจัดซื้อยา เป็นเงินส่วนร่วม หากเกิดส่วนต่าง เงินจะต้องกลับเข้าสู่ส่วนรวม และ 2.การสร้างเงื่อนไขให้คู่สัญญาบริจาคเงิน เช่น กองทุนสวัสดิการ มูลนิธิ เป็นการกระทำผิดต่อหลักธรรมาภิบาลการจัดซื้อจัดซื้อจ้าง

“เงินบริจาคที่เข้ากองทุนของ รพ.ขอนแก่น เป็นการสร้างเงื่อนไขอันเนื่องจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยยอดบริจาคมีความสัมพันธ์กับยอดจัดซื้อจัดจ้าง โดยอาจเทียบเคียงกับยอดบริจาคในครั้งได้ โดยหากมียอดสัมพันธ์กันซื้อเป็นการกระทำผิดหลักธรรมาภิบาล และขัดต่อมติ ครม.วันที่ 12 กันยายน 2560” น.ส.สุชาฎา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี ไปรักษาราชการผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น เป็นครั้งที่ 2 นพ.สุขุม กล่าวว่า นพ.เกรียงศักดิ์ พื้นเพเป็นคน จ.ขอนแก่น และเคยเป็นผู้อำนวยการ รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

“ที่สำคัญไม่สามารถแต่งตั้งรอง ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น ขึ้นเป็นรักษาการแทนได้ เนื่องจาก นพ.ชาญชัย พูดชัดเจนว่า รองผู้อำนวยการ รพ.และคณะกรรมการบริหาร รพ.ก็มีส่วนรู้เห็นในการรับเงินบริจาค จึงจำเป็นต้องตั้งคนอื่นรักษาการแทน ส่วนจะมีการพิจารณาแต่งตั้งรักษาการ ผอ.เป็นคนอื่นแทนหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่า เมื่อ นพ.เกรียงศักดิ์ ไปปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งก่อนก็เห็นว่าได้รับการต้อนรับที่ดี อย่างไรก็ตาม เป็นการตั้งรักษาการเท่านั้น หากมีการสอบสวนแล้วพบว่า ผู้ถูกร้องไม่มีความผิดก็ยังตั้งกลับไปเป็น ผอ.ได้เหมือนเดิม” ปลัด สธ.กล่าว

เมื่อถามต่อว่าการตั้งคณะกรรมการเป็นคนจากกลุ่มก๊วนเดียวกัน เหมาะสมหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ก็สามารถคัดค้านได้ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มก๊วนเดียวกัน มีความไม่ถูกใจก็สามารถร้องเรียนได้ ก็จะพิจารณาให้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการร้องมาแต่อย่างใด

ต่อข้อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการจุดชนวนความแตกแยกของกลุ่มก๊วนใน สธ. ขึ้นมาอีกครั้ง นพ.สุขุม กล่าวว่า ก็ช่วยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำ ตนก็จะผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image