เคาะร่างระเบียบ ร้องถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ ทางเพศ

เลือกปฏิบัติ
เลือกปฏิบัติ

เคาะร่างระเบียบ ร้องถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ ทางเพศ

เลือกปฏิบัติ – นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการ สทพ.เป็นประธานประชุม

อีกทั้งมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอให้ปรับปรุงและยกร่างระเบียบ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการยื่นคำร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

พ.ศ. … ตามที่ระเบียบปัจจุบันไม่ได้กำหนดกรอบเวลาวินิจฉัยสุดท้าย ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) คือ กำหนดไต่สวนคำร้องภายใน 90 วัน หากไม่เสร็จสามารถขอขยายเวลาได้ครั้ง 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 150 วัน และหากยังไม่เสร็จก็สามารถขอขยายเวลากับประธาน วลพ.ได้อีก และไม่สิ้นสุด ทำให้การเยียวยาผู้เสียหายล่าช้า

อธิบดี สค. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมพิจารณาว่าไม่ควรมีการขยายเวลาอีก การไต่สวนคำร้องต้องจบภายใน 90 วัน จึงกำหนดใหม่ตั้งแต่การรับคำร้อง เจ้าหน้าที่ต้องตรวจคำร้องให้เสร็จภายใน 3 วัน และส่ง วลพ.พิจารณาภายใน 90 วัน จากนั้นทำผลการวินิจฉัยและส่งผู้ให้ร้องภายใน 3 วัน รวม 96 วัน แต่กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เช่น สอบพยานไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องฟังและให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ก็ให้ขอขยายเวลากับ รมว.พม. ซึ่งจะพิจารณาหรือไม่พิจารณาขยายเวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับ รมว.พม.พิจารณา ซึ่งระเบียบใหม่ไม่ได้กำหนด เบื้องต้นเตรียมเสนอให้ รมว.พม.ลงนาม และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าที่ผ่านมาด้วย ที่ประชุมจึงฝากให้ สค.ช่วยดูแลงานธุรการของ วลพ.ให้คล่องตัวขึ้น พร้อมรายงานยอดการยื่นคำร้องช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้มายื่นคำร้อง 45 ราย เหลือวินิจฉัยอีกเพียง 7 ราย ก็ถือว่าช่วงหลังเคลียร์ได้เร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image