สอบ ‘186 รพ.’ คืบ! สธ.จ่อเรียก รพศ./รพท.ถามเกณฑ์รับเงินบริจาค ยันยังไม่มีใครผิด

สอบ ‘186 รพ.’ คืบ! สธ.จ่อเรียก รพศ./รพท.ถามเกณฑ์รับเงินบริจาค ยันยังไม่มีใครผิด

ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 186 แห่ง รับเงินบริจาคจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ภายหลังที่ นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ และอดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจ รพ.ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี รพ.ในสังกัด สธ. จำนวน 186 แห่ง รับเงินบริจาคจากบริษัทยาร้อยละ 5 เรียกประชุมคณะกรรมการฯ โดยมี นายมนูเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้น นพ.ม.ล.สมชาย พร้อมด้วย นายมนู ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับทราบข้อมูลจากนายมนู เรื่องของการสำรวจ รพ.ทั้ง 186 แห่ง โดยหลังจากนี้ 2-3 วัน ทางคณะกรรมการฯ จะทำหนังสือไปยัง รพ.ทุกแห่งในประเทศให้มากที่สุด เพื่อสอบถามหลักของการจัดตั้งกองทุนต่างๆ และการรับเงินบริจาคของ รพ. พร้อมทั้งจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการฯ จะมีการเชิญ 2 กลุ่ม มาให้ข้อมูล คือ กลุ่มโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และประธานโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มาร่วมประชุม ทั้งนี้เท่าที่ทราบทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีการทำมาตรการเพื่อดูแลควบคุมเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครอยากทำผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โรงพยาบาลที่มีชื่อทั้ง 186 แห่ง ผู้บริหารถือว่ามีความผิดหรือไม่ นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ยังไม่มีความผิด

ADVERTISMENT

เมื่อถามต่อว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น เป็นเพราะการรับเงินร้อยละ 5 ดังนั้นผู้อำนวยการทั้ง 186 แห่ง ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ ไม่ได้ระบุว่าเป็น ผอ.คนใด และการสำรวจก็บอกว่าเป็นแนวโน้ม จึงยังเอาผิดใครไม่ได้

ด้าน นายมนู กล่าวว่า ในวันนี้ได้เข้ามาให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแก่คณะกรรมการฯ

ADVERTISMENT

“อยากอธิบายให้ทั้ง รพ.และบริษัทยารับทราบว่า ใน รพ.จะมีเงินอยู่ 3 ตะกร้า คือ ตะกร้าที่ 1 เป็นเงินของหลวง 100% ตะกร้าที่ 2 เงินของหลวงและเอกชน คือ เงินกองทุนต่างๆ และ ตะกร้าที่ 3 เงินของส่วนเอกชน โดยหลักคิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือ หากเป็นเงินของหลวงนำไปซื้อยา เวชภัณฑ์ แล้วมีส่วนลด/แถม เงินส่วนนั้นจะต้องนำไปเข้าตะกร้าที่ 1 คือเงินงบประมาณเพียงอย่างเดียว ในส่วนของเงินบริจาคตามข้อจำกัดความออกโดยกระทรวงการคลัง ป.ป.ช.และ สธ. ในปี 2561 ชัดเจนว่าการบริจาคจะต้องบริสุทธิ์ใจ แต่หากมีเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง จะไม่เรียกว่าเงินบริจาค แต่จะเรียกว่า ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” นายมนู กล่าว

นายมนู กล่าวว่า สิ่งที่เสนอคือ 1.หากบริษัทยาอยากจะบริจาค ควรบริจาคผ่านการโดเนชั่นของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการดำเนินการในโรงเรียนกับวัด และอาจจะเพิ่มในส่วนของ รพ.เข้าไป 2.การทำอย่างไรให้ รพ.โอนเงินค่ายาให้บริษัทโดยไม่ผ่านพนักงานเก็บ เพื่อไม่ให้เกิดข้อแม้ในการเรียกเก็บเงินบริจาคร้อยละ 5 เช่น รพ.อำเภอ ก็อาจนำเช็กไปเข้าและโอนไป เพื่อลดเงื่อนไขการข่มขู่ไม่จ่ายเงินค่ายา พยายามเสนอคณะกรรมการฯ ลดเงื่อนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหา และ 3.เสนอตัวอย่างการตัดสินใจที่ดี ใน 2 องค์กร คือ องค์กรแพทย์ที่ซื้อยาในราคาสุทธิ (Net price) คือการใช้วิธีการขายในราคาที่กำหนด เช่น ปกติขายยา 100 บาท แล้วจะต้องมีการบริจาคอีกร้อยละ 5 ก็ตัดตอนลงเป็นการขาย 95 บาท แล้วไม่มีการบริจาคใดๆ และองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินการยกเลิก ใช้ให้บริจาคร้อยละ 5 แต่ก็ยังมียอดขายบวกขึ้น

นายมนู กล่าวว่า การทำแบบสำรวจได้ดำเนินการทำมามากกว่า 1 ปีครึ่ง เนื่องจากเชื่อมั่นใน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ที่มีนโยบายในการปราบปรามการทุจริตใน สธ. ที่ชัดเจน พร้อมทั้งเชื่อมั่นใน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่มีพื้นฐานเป็นนักธุรกิจ และมาจากการเลือกตั้ง คงจะต้องมีการบาลานซ์ ไม่เชิงซ้ายขวา

“โดยได้ทำการสำรวจและส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายของตน ที่เรียกว่า คณะทำงานเกณฑ์จริยธรรม โดยขณะนี้ได้มอบรายชื่อ รพ.ใน 49 จังหวัด ให้แก่คณะกรรมการแล้ว แต่ไม่ถือเป็นความผิด เนื่องจากเป็นเพียงการสำรวจ ที่ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ผู้แทนยา พนักงานเก็บเงิน เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการฯ ไปตรวจสอบ หากมีการกระทำผิด ก็กลับไปทำให้ถูกต้อง” นายมนู กล่าว

เมื่อถามว่า จำนวน รพ.186 แห่ง มีการดูใบเสร็จหรือไม่ นายมนู กล่าวว่า ไม่ได้ลงลึกว่ามีใบเสร็จหรือไม่ เพราะเป็นเพียงการสำรวจ แต่ให้รายละเอียดเพียง 49 จังหวัด เนื่องจากตัดออก 1 จังหวัด ข้อเท็จจริงตนพูดเพียงลำดับมา 22 แห่ง แต่ในรายงานมี 186 แห่ง สิ่งที่ทำเป็นความตั้งใจดี ไม่ได้เป็นประโยชน์ฝ่ายใคร การดำเนินงานส่งผลให้ภาพรวมวงการยา ดีขึ้นมาก แต่ตลาดยามี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มที่มีโรงงานในประเทศ และกลุ่มนำเข้ายามาจากต่างประเทศ ในตลาดการจัดซื้อมีการแข่งขันด้วยการประมูล ซึ่งประเทศไทยมีกติกาว่าจะซื้อยาใด ต้องเป็นราคาที่ต่ำสุด

เมื่อถามว่าเงื่อนไขที่เข้าข่ายการรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน คือการบริจาคให้แก่ รพ.ก่อน ถึงจะได้จัดซื้อจัดจ้างกับ รพ. หรือไม่ นายมนู กล่าวว่า หากเป็นเพียงการยื่นซองการประมูล และทาง รพ.ได้ติดต่อโทรศัพท์ไปยังบริษัทว่า จะมีการบริจาคให้แก่ รพ.หรือไม่ ก็เข้าข่ายผูกเงื่อนไขแล้ว แต่หากบริษัทยาจะไม่บริจาคก็ได้ แต่การจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันมีความสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เนื่องจากเอาราคาต่ำสุด ไม่มีการล็อกสเปก แต่หากมีการประมูลและมีเงื่อนไขคือ คือ ไม่ถูกต้อง โดยมีหลากหลายรูปแบบในการสร้างเงื่อนไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image