ข่าวดี! ประกันสังคมเปิดช่องสูงวัย 60-65 ปี สมัครเข้ามาตรา 40

ข่าวดี! ประกันสังคมเปิดช่องสูงวัย 60-65 ปี สมัครเข้ามาตรา 40

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.ได้ให้ความสำคัญแก่แรงงานอิสระ โดยการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานอิสระ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

“สำหรับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ผู้สูงวัยสามารถเลือกได้ทุกทางเลือก ปัจจุบันมี 3 ทางเลือกคือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท” เลขาธิการ สปส.กล่าว และว่า สำหรับผู้สูงวัยที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ ที่สะดวก รวมถึงหน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม สมัครผ่านภายใต้เครือข่ายประกันสังคม สมัครด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th โทรศัพท์สายด่วน 1506 หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และที่เคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C)

นายทศพลกล่าวว่า ขอย้ำถึงผู้สูงวัยที่มีอายุใกล้ครบ 65 ปีบริบูรณ์ ควรรีบสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และจ่ายเงินสมทบทันที หากอายุเกิน 65 ปีบริบูรณ์แล้ว จะไม่สามารถสมัครได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ โทร 0-2965-2106 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

สำหรับมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก ประกอบด้วย

ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณีคือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ

ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณีคือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ

Advertisement

ทางเลือกที่ 3 เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณีคือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image