สปสช.ยกเลิกสัญญา 18 “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เล็งหาที่ใหม่ทดแทน ยันทำตามขั้นตอนหลังพบส่อทุจริต

สปสช.ยกเลิกสัญญา 18 “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เล็งหาที่ใหม่ทดแทน ยันทำตามขั้นตอนหลังพบส่อทุจริต

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.และโฆษก สปสช. และ นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงความคืบหน้ามติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ตั้งคณะกรรมการเอาผิดคลินิก 18 แห่ง พร้อมประกาศยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ ทั้ง 18 แห่ง หลังจากมีการตรวจพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยบัตรทอง

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การพบความผิดปกติของคลินิกเอกชน 18 แห่ง เป็นการตรวจพบจากระบบของสำนักงานฯ และถือว่าเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ด้วย จะต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานเรื่องปัญหาการทุจริตจากการเบิกจ่าย ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2562 และนำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต กทม. หลังจากนั้นมีกระบวนการต่อเนื่องเป็นระยะ พร้อมทั้งขยายผลในการที่จะตรวจคลินิกเหล่านี้เพิ่มขึ้น ในส่วนที่อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ กทม.ได้มีการพิจารณา และผ่านเรื่องมาเป็นลำดับชั้นจนมาถึงอนุกรรมการการหักค่าใช้จ่าย และมีมติที่ชัดเจนต่อมาเพื่อให้มีการดำเนินงานต่อไป

“ไทม์ไลน์เริ่มต้นจากการตรวจเป็นของปี 2562 ตรวจพบเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2562 ด้วยระบบตรวจสอบที่เร็ว การดำเนินงานของทางคลินิกเอกชน 18 แห่งดำเนินการ หลังจากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการทางการทันที เข้าสู่กระบวนการดำเนินการ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ กทม. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ไม่ได้เก็บเงียบ อะไรที่เข้าสู่กระบวนการทางการ ก็มีการเดินหน้าที่เป็นนโยบายหลักของสำนักงานฯ ในการบริหารภาษีประชาชน และกรรมการหลักประกันของ กทม. มีมติให้ขยายผลการตรวจเพิ่มเติม ไม่มีความเป็นไปได้ในการประวิงเวลา โดยกรรมการ กทม. มีข้อสรุปเพิ่มเติมให้ดำเนินการต่อ ในการตรวจเพิ่มเพื่อให้มีความชัดเจน เกี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว และดำเนินการเรียกเงินคืนทันทีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับภาษีประชาชน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หลังจากนั้นจึงเข้าสู่สำนักงานฯ ด้วยกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และเมื่อรับเรื่อง ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แต่ด้วยกระบวนการมีความเกี่ยวข้องกับกรรมการชุดต่างๆ ที่จะต้องมีความรอบครอบในคดีทางกฎหมาย สำนักงานฯ จึงใช้อำนาจเรียกเงินคืน ส่วนการดำเนินกฎหมาย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาหักค่าใช้จ่าย ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเป็นกรรมการชุดนี้ และมีมติออกมาประมาณ 6 ข้อ หลังจากนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 สำนักงานฯ ได้รับหนังสือในการดำเนินการเรื่องนี้จากสำนักงานเขต กทม. ในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

“ถึงวันนี้ได้ดำเนินการ 1.ทางกฎหมายในลักษณะของการแจ้งความกองปราบฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา 2.ยกเลิกหน่วยบริการเหล่านี้ออกจาก สปสช. 3.เตรียมให้มีสถานบริการสำรอง ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ให้ความมั่นใจกับสถานบริการในกรณีที่มีค่าใช้จ่าย และเพื่อให้ภาษีประชาชนมีความคุ้มค่า” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อพบความผิดปกติมาตั้งนานแล้ว เหตุใดไม่รายงานบอร์ด สปสช.ตั้งแต่แรก นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หลังจากที่ตรวจเจอได้ดำเนินการทางการ โดยอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพของเขต กทม. ก็ถือเป็นบอร์ดของพื้นที่ เมื่อรายงานอนุกรรมการฯ กทม. แล้ว ถือว่าเริ่มกระบวนแล้ว ในส่วนอำนาจหน้าที่คือการเรียกเงินคืน และส่งเรื่องมาตามลำดับชั้นเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว

เมื่อถามว่าในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกชุมชนอบอุ่นทุจริตเบิกงบ ซึ่งมีคำถามว่า มีความเป็นอิสระหรือไม่นั้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ที่มาของกรรมการ สปสช. ก็มาจากกระบวนการที่มีกฎหมายรองรับ มีการเลือกตั้งในแต่ละกลุ่ม มีทั้งหมด 8 คน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ถูกเลือกตั้งโดยไม่ใช่สรรหา จึงมีความเป็นอิสระ และคนอื่นๆ ทั้งประธานอนุกรรมการตรวจสอบฯ นายกสภาวิชาชีพ นายกสมาคม รพ.เอกชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต้องมาจากทุกฝ่าย ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงมีความเป็นอิสระทั้งหมด ส่วนในเรื่องความผิดของ 18 แห่งนั้น ขณะนี้กองปราบฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ

เมื่อถามว่า กรณีอดีตผู้บริหาร สธ.ได้โพสต์ข้อความว่า ให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด เนื่องจากอาจเชื่อมโยงกับอดีตผู้บริหาร สปสช.หรือไม่ หรืออาจมีบริษัทรับจ้างตรวจสุขภาพทำข้อมูลเท็จ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล ขณะนี้มีการตรวจสอบทั้งหมด และเจ้าหน้าที่กองปราบฯ กำลังดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาคลินิก 18 แห่ง ออกจากการเป็นหน่วยบริการ แต่ยังคงเปิดบริการได้จนกว่าจะรอคำสั่งทางกฎหมาย ซึ่งระหว่างนี้ผู้ใช้บริการยังคงใช้ได้เหมือนเดิม เพื่อลดผลกระทบ จนกว่า สปสช.จะหาหน่วยบริการใหม่และจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาจากภาษีประชาชน ต้องมีการกำกับดูแลงบ ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการจัดสรรเงินออกไป การที่โรงพยาบาล หน่วยบริการ คลินิกชุมชน ให้บริการประชาชนแล้ว จะต้องเก็บเอกสารหลักฐานการให้บริการไว้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตราที่ 45 (5) ต้องเก็บไว้ให้สำนักงานฯ ตรวจสอบ และให้ส่งข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเบิกเงินชดเชย โดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา สำนักงานฯ มีกระบวนการตรวจสอบ 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ใช้โปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบข้อมูลที่ส่งมา จะมีเงื่อนไขตรวจสอบหลายร้อยเงื่อนไข ขั้นที่ 2 สำนักการจัดสรรเงินชดเชยค่าบริการ (สำนักเคลม) จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง โปรแกรมจะส่งข้อมูลมาให้แก่เจ้าหน้าที่ หากพบว่าถ้าไม่สมเหตุสมผล ก็จะไม่จ่าย ขั้นที่ 3 ก่อนโอนเงิน สำนักการเงินกองทุนของ สปสช. จะตรวจสอบก่อนโอนเงินอีกครั้ง

“ดังนั้นก่อนจะโอนเงินจะมีการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์และบุคลากรอีก 2 ขั้น ทำให้มั่นใจว่าจ่ายเงินออกไปถูกต้อง แต่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถจับได้หากมีผู้เจตนาต้องการทุจริตหรือนำเอาข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ข้อมูลส่งเบิกกับข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน เป็นเหตุที่ตรวจไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบบัญชี (Audit) ทุกปี ใน 2 รูปแบบ คือ 1.สุ่มตรวจ 3-5% ต่อปี และ 2.คัดเลือก 70-80 เงื่อนไข เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น เราเลือกคลินิกที่มีการเบิกจ่ายชดเชยสูง 45 อันดับแรกมาตรวจสอบ พบว่า 18 แห่ง มีการสงสัยว่าตกแต่งข้อมูลส่งเข้ามาเบิก ทางอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตจึงให้ขยายการตรวจสอบ เราพบความผิดปกติจริงๆ ในการออดิตทุกปีจะพบข้อมูลที่มีความผิดพลาด 2 ลักษณะ 1.จากความประมาท จะทำการชี้แจงและเรียกเงินคืน 2.เจตนา ผิดซ้ำ และทุจริต เป็นข้อหาร้ายแรง สำนักงานฯ ต้องมั่นใจ่าทุจริตจริง และจะไม่ปล่อย จะมีกระบวนการจัดการ” นพ.การุณย์ กล่าว

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขั้นตอนก่อนจะบอกว่าทุจริตจะมีขั้นตอนเป็นลำดับมา จนถึงอนุพิจารณาหลักค่าใช้จ่าย หากชี้มูลว่าผิด สำนักงานฯ จะดำเนินการทันที โดยเรียกเงินคืนทั้งหมด นอกจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะแจ้งความคดีอาญา เพิกถอนการเป็นหน่วยบริการ ยกเลิกสัญญา และส่งเรื่องให้กองประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ สิ่งที่สำนักงานฯ ต้องแยกให้ได้ระหว่างการเจตนาและไม่เจตนา เพื่อไม่ให้เป็นการปรักปรำ ในอนาคตสำนักงานฯ ได้ดำเนินการที่รัดกุมยิ่งขึ้น นอกจากการออดิตแล้ว จะมีการพิสูจน์ตัวตนผู้รับบริการ โดยประชาชนที่เข้ารับบริการจะต้องเสียบบัตรประจำตัวประชาชนหรือ Smart card reader พร้อมทั้งการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อการบริการงบประมาณกองทุนไม่ให้เกิดการรั่วไหล เบื้องต้นได้ลงนามร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ก่อนจะขยายต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นมีประมาณ 200 กว่าแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร 190 แห่ง และพื้นที่ปริมณฑลอีก 30-40 แห่ง

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการของ 18 คลินิกแล้ว ซึ่งจะมีประชาชนที่รับบริการใน 18 แห่ง จำนวน 215,271 คน โดยเป็นผู้ป่วยเรื้อรังประมาณ 1 หมื่นกว่าคน ซึ่งยังรับยาต่อเนื่องได้ที่คลินิกดังกล่าวก่อน และทางคลินิกก็ยังทำเรื่องเบิกกับทาง สปสช.ได้ เพียงแต่ระหว่างนี้ สปสช.กำลังเจรจากับทางหน่วยบริการอื่นๆ เพื่อรองรับประชาชนในการย้ายหน่วยบริการ ซึ่งอาจดำเนินการเสร็จจะแจ้งทางข้อความสั้น (SMS) หรือทางประชาชนหากสนใจว่าเป็นพื้นที่ของตนหรือไม่ให้โทรสอบถามได้ทางสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือตรวจสอบสิทธิผ่านแอพพลิเคชั่นของ สปสช. ชื่อ “สปสช. สร้างสุข” โดยสามารถตรวจสอบสิทธิกรณีได้ภายใน 1-2 วัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image