พิษโควิด ‘แรงงานนอกระบบ’ ตกงานต่อเนื่อง ชู 3 ข้อเสนอช่วยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แรงงานนอกระบบ

พิษโควิด ‘แรงงานนอกระบบ’ ตกงานต่อเนื่อง ชู 3 ข้อเสนอช่วยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แรงงานนอกระบบ – เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมกุมาริกา โรงแรมสวนดุสิต เพลส กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมกับเครือข่าย จัดเวทีอภิปรายออนไลน์ “Gender Co-Solutions” รวมพลังสู่ทางเลือก-ทางรอดของทุกเพศสภาพ ตอนที่ 1 วิกฤติและทางรอดของแรงงานหญิง จากการแพร่ระบาดและการรับมือกับภัยโควิด-19 ซึ่งการอภิปรายในช่วงแรกเป็นการนำเสนอสถานการณ์ของแรงงานหญิงในปัจจุบัน

นางพูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) กล่าวว่า ในปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีมากกว่า ร้อยละ 54 ของแรงงานไทยทั้งหมด มีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน และนับเป็น 2 ใน 3 ส่วนของแรงงานทั่วไป ด้วยเป็นอาชีพที่รองรับคนตกงานจากอุตสาหกรรมโรงงาน เมื่อมีวิกฤตกลุ่มแรงงานจึงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร แต่ยังคงได้รับการฟื้นฟู ความช่วยเหลือ และเยียวยาหลังคนกลุ่มอื่น

โฮมเนท ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ สำรวจผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบในเขตเมือง จำนวน 400 คน ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 ที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบได้ 3 ข้อหลักๆ คือ 1.ไม่ได้ทำงาน มีรายได้ลดลงมาก และอาจจะยืดเยื้อไปหลังโควิด เช่น กลุ่มผู้ผลิตสินค้าพื้นเมือง กลุ่มเย็บเสื้อผ้าที่รับงานมาทำที่บ้าน และหมอนวดแผนโบราณ 2.มีแรงงานน้อยกว่า ร้อยละ 2 ที่กลับบ้านหลังจากตกงาน เพราะกลับไม่ได้ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และไม่มีเงินสำหรับเดินทาง และ3.ความสามารถในการประคองภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวให้อยู่รอดต่อได้ประมาณ 3 เดือน ในกรณีที่ยังคงตกงานต่อเนื่อง

นางพูนทรัพย์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบด้านรายได้รุนแรงจริงๆ เช่น ลูกจ้างงานบ้าน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานหญิงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พอเกิดโควิด นายจ้างก็ให้หยุดงานเพราะกลัวลูกจ้างจะเอาเชื้อโรคเข้าบ้าน แต่ก็ไม่ได้แจ้งว่าจะให้เงินเดือนหรือไม่ หลายคนจึงเกิดอาการเครียดมาก ขณะที่หลายคนมีงานประจำแบบไปเช้าเย็นกลับ นายจ้างก็เริ่มลดวันทำงาน ลดเงินเดือน ซึ่งแรงงานก็อยู่ในภาวะจำยอมไม่กล้าต่อรองเพราะกลัวตกงานในภาวะที่การหางานใหม่เป็นเรื่องยาก ส่วนอีกกลุ่มก็กลับบ้านไม่ได้ เพราะเงินสะสมเหลือน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย ที่สำคัญในสถานการณ์แบบนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีความเครียด พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ใส่กัน แต่ลูกจ้างส่วนมากระบุว่าต้องอดทนให้มากที่สุด

Advertisement

นอกจากนี้ผลการสำรวจดังกล่าวยังระบุอีกว่า จากการระบาดของโควิด-19 รายได้ของแรงงานนอกระบบในช่วงปิดเมืองลดลง เมื่อแยกเป็นรายอาชีพ พบว่าอาชีพ “หมอนวด” แทบจะไม่มีรายได้ ด้วยมีรายได้ลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 96.96 เปอร์เซ็น รองลงมาคือ ช่างเสริมสวย ร้อยละ 93.64 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 87.13 หาบเร่แผงลอย ร้อยละ 81.37 ผู้ทำการผลิตที่บ้าน ร้อยละ 79.9 ลูกจ้างทำงานบ้าน ร้อยละ 74.63 และขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 63.02 ตามลำดับ

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้เสนอข้อเสนอแนะไว้ 3 ข้อ คือ 1.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือแรงงานนอกระบบทั้งด้านสวัสดิการสังคมและการทำมาหากิน เช่น ให้โควตาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐแก่กลุ่มผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยกระดับทักษะการประกอบอาชีพ สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน เช่น ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานที่เป็นผู้ปกครองได้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว 2.ไม่ทำร้ายหรือซ้ำเติมกัน เช่น ไม่ยกเลิกการค้าริมทาง ไม่ส่งเสริมธุรกิจใหญ่มาแข่งกับสาธารณะที่มีอยู่ และ 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ปฏิบัติการจนถึงการตัดสินใจเชิงนโยบาย เช่น สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มอาชีพ ได้ร่วมคิดค้นมาตรการและนโยบายสาธารณะตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image