น้ำใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา มีใช้การได้แค่ 769 ล้าน ลบ.ม. ต้องระบายน้ำ เท่าที่จำเป็น 

 น้ำใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา มีใช้การได้แค่ 769 ล้าน ลบ.ม. ต้องระบายน้ำ เท่าที่จำเป็น 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า สาเหตุของภัยแล้ง เกิดจากปริมาณฝนมีน้อยมาก ต่อเนื่องมาจากปี 2562 ที่เกิดภาวะแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปีและเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยตั้งแต่มีการเก็บสถิติมานับจากปี 2522 ขณะที่ในช่วง 5 – 6 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณฝนตกน้อยมาก แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้แค่ 769 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้ำมากถึง 1,780 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่ากันถึง 1 พันล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อนในลุ่มเจ้าพระยาให้กับภาคเกษตรเท่าที่จำเป็น

ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่แม่น้ำปิงและน่าน เท่านั้นที่วิกฤต แต่แม่น้ำยม ก็หนักไม่แพ้กัน เพราะฝนตกน้อย ตั้งแต่ จ.สุโขทัย พิจิตร แม่น้ำยมแห้งขอด จะมีก็ในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา ฝนตกหนักที่ จ.แพร่ ตกมากถึง 100 มิลลิเมตรใน 3 ชั่วโมง แต่ไม่มีอุทกภัยเกิดขึ้นเลย เนื่องจากน้ำซึมลงดินทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าฝนที่ตกหนักยังไม่เพียงพอสำหรับการกักเก็บ อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ฝนตกหนักในช่วงปลายเดือน ก.ค.ต่อเนื่องถึง ส.ค.ซึ่งคาดว่าจะมีพายุเข้ามาประมาณ 1 – 2 ลูก มาจากทะเลจีนใต้เคลื่อนตัวเข้ามาอาจจะช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อนได้รวมทั้งน้ำในลำน้ำสำคัญ แต่ที่น่าห่วง คือ ปีนี้ ฝนหมดเร็วมากคือประมาณเดือน ก.ย.ฝนหมดแล้ว แต่ไม่แน่ว่าในช่วงปลายปี 2563 อาจจะเกิดภาวะลานิญ่าขึ้นฝนอาจจะกลับมา ตอนนี้กำลังดูภาวะอุณหภูมิมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือและอินเดีย ก่อนจึงจะชี้ชัดได้

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ทส.จะลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ตรวจราชการ ที่ อ.บางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมแล้งซ้ำซาก และ อ.พรหมพิราม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามมาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชมการสาธิตการขุดเจาะบ่อเติมน้ำใต้ดินแบบบ่อวงคอนกรีต ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมมอบนโยบายการเติมน้ำใต้ดินแก่ผู้นำท้องถิ่นให้ร่วมกันน้อมนำศาสตร์พระราชา “ทฤษฎีแก้มลิง” เร่งขยายพื้นที่ทำบ่อเติมน้ำใต้ดินช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืน

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทย เป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังต้องคิดค้นเพื่อหาวิธีกักเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับกับฤดูแล้งหน้าที่จะมาเยือนในปีต่อไป

Advertisement

ดังนั้น ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับมอบหมายร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการ ขับเคลื่อนภารกิจด้านการเติมน้ำใต้ดิน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ หลักการเติมน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ช่วยระบายน้ำและลดภาวะน้ำท่วมขัง ที่สำคัญพื้นที่ที่มีชั้นใต้ดินที่เหมาะสม จะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ สำหรับแผนงานโครงการเติมน้ำใต้ดินในปีงบประมาณ 2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อยู่ระหว่างดำเนินการมีจำนวนทั้งสิ้น 530 แห่ง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 300 แห่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนส.ค.นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image