เปิดมาตรการพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ สปสช.เคลียร์ทุกคำถาม “ช็อตต่อช็อต”

แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้ตรวจพบ “การทุจริต” งบประมาณบัตรทองของคลินิกเอกชน 18 แห่ง ด้วยตัวเอง หากแต่ประเด็นนี้นำมาสู่การตั้งถามถึง “กระบวนการตรวจสอบ” ของ สปสช.ว่าหละหลวมหรือไม่

มากไปกว่านั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตไปไกลถึงขั้นว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น มี “คนใน” ของ สปสช.รู้เห็นด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ดี หากรับฟังคำชี้แจงของผู้บริหาร สปสช.อย่างเปิดใจ ตลอดจนพิจารณา “ไทม์ไลน์” การดำเนินการด้วยความเป็นธรรม จะพบว่า สปสช. ตอบได้เคลียร์ทุกข้อสงสัย

การเสวนาหัวข้อ “สปสช. เปิดมาตรการพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ… ช็อตต่อช็อต : ตรวจสอบเบิกจ่ายกองทุนบัตรทอง” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้งที่มีการเปิดข้อมูลอย่างละเอียดยิบ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการตรวจสอบทุจริต

Advertisement

สาระสำคัญของการพูดคุย เป็นการเล่าถึงกระบวนการและกลไกการตรวจสอบ โดยเฉพาะในกรณี 18 คลินิกทุจริต ที่ สปสช. นำทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มอัตรา เพื่อเอาผิด “คนโกง” อย่างเฉียบขาด

จากเวทีเสวนาทำให้ทราบว่า ขณะนี้ สปสช.ได้ระดมเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 300 คน เร่งตรวจสอบเอกสารเฉียด 2 แสนฉบับ แบบละเอียดยิบ 100%

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. ทำความเข้าใจว่า สปสช.แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 13 เขตทั่วประเทศ โดยพฤติกรรมการทุจริตที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่เขต 13 (กรุงเทพมหานคร) ภายใต้ความรับผิดชอบของ “สปสช.เขต 13” และผู้ที่ตรวจพบการทุจริตก็คือ สปสช.เขต 13

สำหรับงบประมาณที่คลินิกเอกชน 18 แห่ง ตกแต่งตัวเลขเท็จมาขอเบิกจาก สปสช.นั้น อยู่ในส่วนของ “งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ซึ่ง สปสช.ตรวจพบ “ความผิดปกติ” ในเดือนสิงหาคม 2562 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าความผิดปกติเหล่านั้น เป็นไปโดยเจตนาหรือไม่

เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ สปสช. โดยคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) ได้มีมติในเดือนกันยายน 2562 หรือไม่ถึง 1 เดือน หลังพบความผิดปกติ ให้ “ขยายผลตรวจสอบ 100%”

กระทั่งพบว่า จากประชากรที่มีสิทธิใน 18 คลินิก จำนวน 1.9 แสนราย มีการลงรายการว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จำเป็นต้องตรวจเบาหวาน-ความดัน-ไขมัน มากถึง 1.8 แสนราย ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้มีความเสี่ยงมากขนาดนี้

“เราได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปเรื่อยๆ จนยืนยันได้ว่าเป็นการทุจริต มีขบวนการทำข้อมูลมาเบิกเงินเกินจริง สปสช.จึงเอาผิดตามกฎหมายต่อไป” นพ.การุณย์ อธิบาย

ทั้งนี้ สปสช.ได้ยกเลิกสัญญา-เพิกถอนการเป็นหน่วยบริการในระบบ และดำเนินการแจ้งความคดีฉ้อโกง รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้ว ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาผิด ทั้ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ร.บ.วิชาชีพ และอยู่ระหว่างดำเนินการทางแพ่งและคดีปกครองด้วย

นั่นหมายความว่า นอกจาก สปสช.จะดำเนินการเรียกเงินคืนกลับมาให้ครบจำนวน (ปัจจุบันเรียกคืนมาแล้วกว่า 60 ล้านบาท จาก 74 ล้านบาท) สปสช.ยังจะฟ้องแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมด้วย

หนำซ้ำ หากสภาวิชาชีพพบว่าแพทย์ผู้ดำเนินการเกี่ยวข้องด้วยก็จะมีโทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ ส่วนคลินิกก็อาจถูกเพิกถอนการเป็นหน่วยบริการ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ด้วย
เรียกได้ว่า เป็นการลงดาบแบบ “ถอนรากถอนโคน” เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

นพ.การุณย์ บอกว่า ในการสร้างหลักประกันสุขภาพ สปสช.ให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมเป็นหลัก ฉะนั้น จึงพยายามหาหน่วยบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเข้ามาให้บริการประชาชน และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาด้วยดีมาโดยตลอด

“นี่เป็นครั้งแรกที่มีการทุจริต เมื่อเราตรวจพบก็ต้องดำเนินการเต็มที่ และหลังจากนี้ก็จะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเพื่ออุดช่องโหว่ แต่ที่สำคัญคือ มาตรการเหล่านั้นจะต้องไม่มาเป็นกำแพงกั้นขวางการเข้าถึงบริการของประชาชน” นพ.การุณย์ระบุ

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ประธานกลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. อธิบายเพิ่มเติมว่า ความผิดพลาดในระบบการเบิกจ่ายเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งมีทั้งกรณีการเบิกจ่ายเกินที่ สปสช.ต้องเรียกเงินคืน และการเบิกจ่ายไม่ครบทำให้ สปสช.ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทั้งหมดต้องดูที่เจตนา โดยที่ผ่านมาก็พบทั้งการพลั้งเผลอ ผิดลืม ผิดหลง ซึ่งไม่ได้เจตนาทุจริต

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ ที่ผ่านมา สปสช.จะสุ่มตรวจโดยการเรียกเวชระเบียนมา เมื่อตรวจแล้วก็จะแจ้งผลกลับไปที่หน่วยบริการ และยังเปิดช่องให้หน่วยบริการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ตรงนี้จึงทำให้อาจถูกมองว่า สปสช.ล่าช้า แต่เพื่อความโปร่งใสจึงต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายด้วย

“ในกรณี 18 คลินิก เขาบอกว่าต้องเตรียมเอกสารมาก จะขอขยายเวลา เพราะทำไม่ทันตามกรอบ 30 วัน แต่โดยหลักการแล้วไม่ทันคงไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องบันทึกเวชระเบียนทุกครั้ง และต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน 5 ปี ดังนั้น เมื่อเรียกตรวจก็ควรต้องมี ดังนั้นการอ้างว่าทำไม่ทันจึงไม่ได้” พญ.กฤติยาระบุ

ทั้งนี้ สปสช.จะขยายผลการตรวจสอบคลินิกในกรุงเทพฯทั้งหมด โดยขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่จากเขตต่างๆ กว่า 300 คน เพื่อช่วยกันตรวจสอบเวชระเบียนและบันทึกต่างๆ ตลอดจนโทรสอบถามประชาชนด้วย เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอีกหรือไม่ โดยตั้งเป้าว่าภายในเดือนสิงหาคม 2563 จะแล้วเสร็จ

พญ.กฤติยา กล่าวย้ำว่า สปสช.มีระบบตรวจสอบในทุกๆ กระบวนการ และมีระบบกำกับติดตาม โดยข้อมูลที่ได้ก็จะนำกลับมาพัฒนาระบบให้เข้มแข็งขึ้นต่อไป

“ที่เราตรวจสอบเจอก็เป็นผลมาจากที่ สปสช.ได้พัฒนาองค์ความรู้ให้ทีมตรวจสอบของ กทม.นำไปใช้ และเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น เราก็จะนำองค์ความรู้เรื่องนี้กลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบต่อไป” พญ.กฤติยาระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image