สปสช.ตรวจเอกสาร 18คลินิก โกงงบ “บัตรทอง” ครบแล้ว เผยข้อมูลกว่า 2 แสนฉบับ เร่งสอบอีก 63 แห่ง

แฟ้มภาพ
สปสช.ตรวจเอกสาร 18คลินิก โกงงบ “บัตรทอง” ครบแล้ว เผยข้อมูลกว่า 2 แสนฉบับ เร่งสอบอีก 63แห่ง

ความคืบหน้ากรณีการดำเนินการทางกฎหมายกับคลิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่มีการทุจริตเนื่องจากแจ้งเบิกจ่ายเท็จ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามี 18 แห่ง และมีอีก 63 แห่งที่อยู่ระหว่างตรวจสอบนั้น

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังสปสช.ได้เชิญตัวแทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการปราบปราม เข้าร่วมหารือเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงการดำเนินการกับ 18 คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่มีการทุจริตงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และขยายผลกับคลินิกที่ตรวจพบการทุจริตในคลินิกอีก 63 แห่ง เพิ่มเติม ว่า เรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบบัญชี (audit) เนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 7 แสนฉบับ โดย สปสช.จะนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวยื่นต่อกองบังคับการปราบปราม และดีเอสไอ

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ในการดำเนินการต้องใช้เจ้าหน้าที่มากกว่า 300 คน ตรวจสอบเอกสารทั้งวันทั้งคืนและไม่มีวันหยุด โดยล่าสุดตรวจสอบเอกสารของคลินิก 18 แห่ง รวมกว่า 2 แสนฉบับ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารของ 63 คลินิก เพิ่มเติมอีกกว่า 5 แสนฉบับ ซึ่งการประชุมที่ผ่านมา เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขยายผลการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมให้แน่นหนายิ่งขึ้น

“นอกจากดำเนินการกับ 18 คลินิก และ 63 คลินิก เสร็จสิ้นแล้ว สปสช.ยังได้มีมติให้ดำเนินการเท่าเทียม ขยายผลการตรวจสอบไปยังคลินิกทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี และขยายไปยังพื้นที่ปริมณฑลต่อไป เป็นการปูพรมโดยไม่มีการละเว้น” นพ.การุณย์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นางจันฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สบส.กล่าวว่า ในส่วนของคลินิกทั้ง 18 แห่ง ซึ่ง สปสช.ได้เพิกถอนการเป็นหน่วยบริการแล้วนั้น ขณะนี้ทั้ง 18 แห่ง มีเวลา 15 วัน ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะครบในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ หากแก้ไขไม่เสร็จสิ้นก็ต้องมีคำสั่งปิดชั่วคราว และจะดำเนินการทั้งในด้านมาตรฐานสถานพยาบาล และมาตรฐานวิชาชีพ โดยในส่วนของตัวผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นแพทย์ หากมีความผิดก็ต้องส่งเรื่องดำเนินการไปยังแพทยสภา หรือในส่วนของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หากพบว่ามีความเกี่ยวข้อง จะมีการส่งไปยังสภาเทคนิคการแพทย์ที่ดูแลเรื่องมาตรฐานเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image