สปสช.ฟังเสียง “ผู้ให้บริการ” รวมข้อเสนอมุ่งพัฒนาระบบยั่งยืน

“ความยั่งยืน” ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากเห็นคุณค่าและร่วมกันปกปักษ์รักษา ซึ่งตลอดระยะเวลา 17 ปี บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยมรสุมและความท้าทายนับครั้งไม่ถ้วนนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงชนิดที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจโค่นล้มได้

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าความยั่งยืนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาได้เอง หากแต่ทั้งหมดเป็นผลพวงจาก “กลไก” ที่ผู้วางระบบได้ออกแบบไว้ นั่นก็คือกระบวนการ “รับฟังความคิดเห็น” จากทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

การรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานจึงเป็นมากกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ หากแต่ถือเป็น “หน้าที่ตามกฎหมาย” ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องดำเนินการ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสร้างระบบที่ “ทุกคนเป็นเจ้าของ”

เวทีรับฟังความเห็นหัวข้อ “บริหารกองทุนบัตรทองอย่างไรให้ประชาชนสุขภาพดี โรงพยาบาลมีความสุข” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 จึงนับเป็นอีกครั้งที่มีความสำคัญยิ่ง โดยการพูดคุยครั้งนี้ให้ความสำคัญที่ความเห็นของ “ผู้ให้บริการ” หลังจากเวทีแรกเป็นการรับฟังเสียงของ “ผู้พิการ” ไปก่อนแล้ว

Advertisement
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความเห็น ชี้แจงว่า เนื้อหาหลักของการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ คือการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจ่ายเงินกองทุน การตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ และข้อเสนอในการพัฒนาระบบ

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์

ก่อนจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. ได้อธิบายถึงทิศทางการบริหารกองทุนบัตรทอง ซึ่งอยู่ภายใต้คำจำกัดความที่ต้องการทำให้คนไทยทุกคน “เข้าถึงบริการ” อย่างเท่าเทียม โดยต้องครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล และครอบคลุมสิทธิประโยชน์

“ในเรื่องสิทธิประโยชน์นั้น แม้ว่า สปสช.อยากจะทำทุกเรื่อง แต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ย่อมหมายถึงการเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อเลือกว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลัง” นพ.การุณย์อธิบาย

Advertisement
นพ.จักรกริช โง้วศิริ

ขยายความเพิ่มเติมจาก นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. ที่ให้ภาพอนาคตอันใกล้นี้ว่า “หน่วยบริการปฐมภูมิ” จะมีความสำคัญและเป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่ง สปสช.ได้จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งในเรื่องระบบบริการปฐมภูมิ โดยหลังจากนี้ระบบบริการจะไม่สามารถยืนอยู่อย่างเดี่ยวๆ ได้ แต่จะต้องทำงานกันเป็นเครือข่าย

นอกจากงบบริการในหน่วยบริการ งบบริการในชุมชน งบบริการปฐมภูมิเพิ่มเติมนอกเหมาจ่ายแล้ว สปสช.ยังมีงบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการโดยหน่วยบริการร่วมให้บริการ เพื่อสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมและลดความแออัดด้วย โดยในปี 2564 มีรายการใหม่ 5 รายการ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ร้านยาอบอุ่นรับ ยาใกล้บ้าน 2.บริการส่งยาทางไปรษณีย์ 3.บริการโทรเวชกรรมและสายด่วนสุขภาพจิต 4.บริการพยาบาล/กายภาพบำบัดในชุมชน 5.บริการตรวจห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ

ถัดจากนั้น เวทีส่วนกลางได้เปิดให้ผู้ที่รับฟังทางช่องทางออนไลน์ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีข้อเสนอหลากหลายประเด็น

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เสนอว่า สปสช.ควรปรับหลักเกณฑ์ให้คล่องตัวและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการ โดยยกตัวอย่างการดูแลคนไข้โรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้พัฒนาเครือข่ายบริการ Stroke Fast track เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ตลอดจนพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น แต่ สปสช.ออกเงื่อนไขกำหนดให้หน่วยบริการต้องมีการดูแลผู้ป่วยครบตามกระบวนการที่ สปสช.กำหนด ทำให้โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการได้ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลชุมชนไม่อยากเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการ สุดท้ายทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ดังนั้น อยากให้ปรับหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของระบบบริการมากกว่านี้

รศ.นพ.สมศักดิ์ ยังสะท้อนประเด็นในเรื่องการเข้าถึงยา ตัวอย่างเช่น ยาโดนีพีซิล (Donepezil) ซึ่งเป็นกลุ่มยารักษาคนไข้โรคสมองเสื่อม แม้ว่าจะมีการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่คนไข้กลับยังเข้าไม่ถึงยา เพราะยามีราคาแพง และ สปสช.กำหนดให้เบิกจ่ายในงบผู้ป่วยนอก ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายเงินซื้อยานี้ได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด ดังนั้น เสนอว่ายาราคาแพงในบัญชียาหลักแห่งชาติ สปสช.ควรเป็นผู้จัดหาแล้วจ่ายให้โรงพยาบาล โดยใช้วิธีการจัดซื้อยารวมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะหากให้โรงพยาบาลซื้อยาเอง คนไข้ก็คงจะไม่ได้รับยาแน่ๆ

นพ.มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) รือเสาะ จ.นราธิวาส เสนอให้เพิ่มเติมการสนับสนุนบริการสุขภาพยุค New Normal ในส่วนของการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรค รวมถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และในส่วนของการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการนั้น ควรต้องหาจุดสมดุลไม่โอเวอร์โหลดต่อระบบ เพราะบุคลากรด้านการเงินเริ่มมีภาระงานสูงเกินไปแล้ว อีกทั้งยังมีบัญชีต่างๆ ของ สธ.ที่เพิ่มขึ้นทุกปีเข้ามาอีก

ขณะเดียวกัน มีเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลบริการว่า การบันทึกข้อมูลให้ สปสช. มีปัญหามากในเรื่องรหัสยา จึงเสนอให้ใช้รหัสยาของแต่ละกลุ่มเหมือนๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากรหัสหัตถการที่มีไม่ครบทำให้โรงพยาบาลกำหนดราคาไม่เหมือนกัน รวมถึงปัญหาจากโปรแกรมบันทึกข้อมูลที่มีหลากหลายมาก จึงเสนอให้ปรับใช้โปรแกรมเดียวกันเพื่อลดภาระงาน รวมทั้งในส่วนของงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ที่จ่ายตามรายการการรักษา (Free schedule) มีข้อเสนอให้จ่ายแยกขาดจากกันให้ชัดเจน ไม่เอามาปนกัน

สำหรับระบบการตรวจสอบบัญชี (Audit) ทุกวันนี้ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพยังไม่เหมือนกัน จึงมีข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบให้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งคุณภาพและเกณฑ์การตรวจสอบของ Auditor ของแต่ละกองทุนก็ไม่เท่ากัน จึงเสนอให้ปรับปรุงเกณฑ์

การเสนอความคิดเห็นยังครอบคลุมไปถึงปัญหาแพทย์และพยาบาลที่ไม่เข้าใจเกณฑ์การตรวจสอบ ทำให้บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน มีปัญหาตอนตรวจ ในประเด็นนี้มีข้อเสนอให้ สปสช.เน้นการอบรมหน่วยบริการ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกิดความผิดพลาดบ่อย และอยากให้คืนข้อมูลให้โรงพยาบาลเพื่อโอกาสในการพัฒนาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image