กรมพัฒนาแรงงาน จับมือ เอกชน พัฒนา “นักขับโดรน” นำร่อง “ปทุมธานี-นนทบุรี-นครปฐม”

กรมพัฒนาแรงงาน จับมือ เอกชน พัฒนา “นักขับโดรน” นำร่อง “ปทุมธานี-นนทบุรี-นครปฐม”

วันที่ 29 กรกฎาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตร ระหว่าง นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และ นายกฤษดา อัครพัทธยากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ทั้งนี้มีนายวิชัย ผิวสอาด รองอธิบดี กพร. และ นายกฤตธัช สาทรานนท์ กรรมการบริหารแผนก Aero Drone บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ลงนามเป็นสักขีพยาน

นายดวงฤทธิ์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในการลงนามว่า ความร่วมมือของ กพร. กับ บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยที่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน ในการทุ่นแรง ลดเวลาการทำงาน เพิ่มผลผลิตสินค้า โดยเฉพาะการนำอากาศยานไร้คนขับ มาใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช จะช่วยลดต้นทุน ค่าวัสดุและค่าแรงงาน เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และที่สำคัญลดความเสี่ยงอันตรายในระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ

Advertisement

ด้าน นายธวัช กล่าวว่า กพร.ได้ร่วมกับบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด จัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน เพื่อการเกษตร ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ ครอบคลุมเนื้อหาประกอบด้วย ส่วนประกอบของโดรน การเปลี่ยนชิ้นส่วน การขนย้าย การใช้เครื่องบังคับ การบำรุงรักษา การเก็บรักษา ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน รวมถึงการทำใบอนุญาตและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาฝึกอบรม 18 ชั่วโมง (3 วัน) ฝึกอบรมนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม จ.นนทบุรี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน และจ.นครปฐม ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน ตั้งเป้าหมายผลิตเกษตรกร 4.0 จำนวน 60 คน

นายกฤษดา กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการและจำหน่ายสินค้าชั้นนำของประเทศด้านเทคโนโลยีไฮดรอลิค นิวเมติกส์และออโตเมชั่น รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับศักยภาพเกษตรกรของประเทศไทยสู่สมาร์ทฟาร์ม สามารถใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการเพาะปลูกที่มีความแม่นยำสูง ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยสู่ท้องตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพได้อย่างได้อย่างยั่งยืน จึงร่วมกับ กพร.เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลิตกำลังคนในทุกภาคส่วนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image