ผงะ!! โกง “บัตรทอง” ล็อต 2 อีก 34 ล. สปสช.เผยพบ ปชช.ถูกสวมสิทธิ์กว่า 8 หมื่นราย

ผงะ!! โกง “บัตรทอง” ล็อต 2 อีก 34 ล. สปสช.เผยพบ ปชช.ถูกสวมสิทธิ์กว่า 8 หมื่นราย 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. และ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สปสช. แถลงความคืบหน้าการเร่งดำเนินการเอาผิดกับหน่วยบริการ (คลินิก) ที่ทุจริตเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

นายนิมิตร์ กล่าวว่า คณะทำงานจะแบ่ง 2 กลุ่ม คือ ทีมที่ 1 หาข้อเท็จจริง ว่ามีกี่แห่งที่กระทำผิด ทีมที่ 2 การป้องกัน สร้างระบบไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำ ไปจนถึงกำกับการตรวจสอบเรื่องเบิกจ่าย ประเด็นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แจ้งความ 18 คลินิก ที่เป็นคู่สัญญาหลักกับ สปสช. โดยเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดกับแล็บ ลักษณะความผิดคือ ใบผี ประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการแต่มีการส่งเบิก และเข้าใช้บริการจริงแต่ถูกแก้ไขข้อมูล

“การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ เป็นความผิดที่ร้ายแรง ทำลายอนาคตสุขภาพประชาชนกว่า 2 แสนคน หากประชาชนที่ถูกแอบอ้างชื่อในโรคที่กล่าวอ้าง ทำให้ถูกระงับสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบการรักษาในภายหลัง จากเบื้องต้นในคลินิก 18 แห่ง ขยายผลพบเป็น 68 แห่ง พบมีลักษณะความผิด 63 แห่ง ที่คล้ายกับ 18 แห่งแรก ดังนั้นสิ่งที่กรรมการตรวจสอบคือ ไม่รอการตรวจใบแล็บอย่าง 100% แต่หากพบว่าผิดจะทยอยฟ้องทันที และอาจจะมีข้อสงสัยว่าทราบได้อย่างไรว่ามีการแก้ไขข้อมูล คือ เมื่อมีใบเบิกผิดสังเกต ทีมตรวจสอบถึงย้อนไปตรวจสอบข้อมูล เช่น ผู้ป่วยรายเดียวกันแต่ส่วนสูงที่ต่างกันในระยะปีแรกและปีต่อมาของการตรวจ” นายนิมิตร์ กล่าว

Advertisement

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเดินหน้าตรวจสอบในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 180 แห่ง และคลินิกทันตกรรมประมาณ 100 แห่ง นอกจากคลินิกเอกชน 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่งที่ดำเนินคดีไปแล้ว ขณะนี้ สปสช.ได้ระดมทีมผู้ตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่จากต่างจังหวัดเข้ามา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สปสช.รวมประมาณ 300 คน เร่งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายบริการคัดกรองโรคทั้งหมดของหน่วยบริการ 66 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย สปสช.ได้อายัดเอกสารจากคลินิกทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม กำหนดระยะเวลาตรวจไว้ถึงวันที่ 14 สิงหาคมนี้

Advertisement

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจไปแล้วเกือบ 160,000 ฉบับ พบเอกสารไม่น่าเชื่อถือประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งกรณีที่พบว่าเป็นการตกแต่งข้อมูลเป็นเท็จ มีการสวมสิทธิ์ ฯลฯ สปสช.ได้รวบรวมเพื่อส่งหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับทางกองบังคับการปราบปรามและดีเอสไอแล้ว ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านบาท สำหรับ 63 คลินิก และ 3 คลินิกทันตกรรม ซึ่งต้องเรียกเก็บเงินคืนทั้งหมด และดำเนินคดีทางกฎหมาย

“สำหรับใครถูกสวมสิทธิ์ ให้สามารถไปใช้สิทธิ์ได้เหมือนเดิม โดยเราจะทำเว็บไซต์เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ โดย สปสช.ได้จัดทำระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์แล้ว เริ่มเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประชาชนต้องขอรหัสเบิกจ่ายเพื่อให้กับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการ และหน่วยบริการต้องมีรหัสนี้ในการส่งเบิก และในอนาคตจะมีการทำระบบเชื่อมโยงกับบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อเชื่อมโยงกับระบบพิสูจน์ตัวตนในการรับบริการที่หน่วยบริการ” นพ.การุณย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนที่ถูกสวมสิทธิ์ ณ ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างไร นพ.การุณย์ กล่าวว่า ประชาชนเข้ารับบริการได้ปกติ แต่คลินิกไหนที่ทำเราจะทยอยเอาออกจากระบบ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อคน โดยกลุ่มที่พบการสวมสิทธิ์นั้น ส่วนหนึ่งมีใช้บริการจริง แต่ข้อมูลเท็จ อย่างไรก็ตาม สปสช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่จึงไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมด สปสช. ได้ดำเนินการแจ้งความต่อคลินิก 86 แห่ง และห้องแล็บ หรือห้องปฏิบัติการเทคนิกการแพทย์อีก 2 แห่งแล้ว

ต่อข้อคำถามว่างบประมาณที่ให้แก่คลินิกในการตรวจสุขภาพเมตาบอลิก มีมูลค่าเท่าไร นพ.การุณย์ กล่าวว่า มีมูลค่ารวม 250 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เสียหาย อันนี้เป็นงบภาพรวม ส่วนความเสียหายเบื้องต้น 34 ล้านบาท จากการตรวจเอกสาร 1.6 แสนฉบับ

ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าความเสียหายที่มีการเรียกคืนเงินนั้น จากการตรวจสอบคลินิกล็อกแรก 20 แห่ง มีมูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท และล็อต 2 จำนวนคลินิก 66 แห่ง (คลินิก+ทันตกรรม 3 แห่ง) 34 ล้านบาท

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image