กรมสุขภาพจิตระดมสมองวางแผนเยียวยา ปชช.รับผลกระทบ “โควิด-19”

กรมสุขภาพจิตระดมสมองวางแผนเยียวยา ปชช.รับผลกระทบ “โควิด-19”

วันที่ 6 สิงหาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมปาฐกถาพิเศษ ในการวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2563 หัวข้อ Mental Health in the COVID-19 Pandemic (สุขภาพจิต โควิด สิบเก้า) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ของนักวิชาการ และเป็นเวทีสำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิชาการสู่ประชาชน โดยเป็นปีแรกที่ปรับรูปแบบเป็นไฮบริด สามารถรับชมทางออนไลน์ไปพร้อมๆ กับการประชุมจริง สอดคล้องกับการประชุมแนวชีวิตวิถีใหม่ (New normal)

นายสาธิต กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งด้าน สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพจิตอย่างครอบคลุม อาทิ สำรวจการรับรู้และภาวะสุขภาพจิตของประชาชนไทยและบุคลากรสาธารณสุขจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสะท้อนถึงภาวะสุขภาพจิตของประชาชนไทยและบุคลากรสาธารณสุข ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตโดยวัคซีนใจ วัคซีนครอบครัว วัคซีนชุมชน จัดทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) ดำเนินการเยียวยาจิตใจประชาชน บุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มกักกัน รวมทั้งสื่อสารสาธารณะให้ประชาชนเกิดความตระหนัก แต่ไม่ตระหนกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ดังนั้น การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2563 จึงมีวัตถุประสงค์ที่ตรงตามหัวข้อการประชุมสุขภาพจิต โควิด สิบเก้า โดยเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยบทบาทของ สธ.จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนไทยในภาวะการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขเป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะสำเร็จหรือไม่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนไทย การสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ครั้งนี้เป็นบทเรียน และประสบการณ์ที่ดีที่สามารถนำไปใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตในอนาคตต่อไป” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปีนี้กรมสุขภาพจิตปรับรูปแบบการจัดประชุมแบบไฮบริดตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบการประชุมออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกันบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อการแพร่ระบาดของโรค ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต เครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยและต่างประเทศ ประมาณ 1,000 คน โดยภายในงานจะประกอบด้วยปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการนำเสนอผลงานวิชาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเช่นนี้ จะช่วยให้องค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่จำเป็นสำหรับการรับมือผลกระทบจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น ได้รับการนำไปช่วยกันดำเนินงานและบูรณาการอย่างเหมาะสม และยังเป็นโอกาสที่ดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ VDO Conference Live Streaming (Cisco WebEx Meeting) หรือช่องทาง Facebook Live ในระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2563 ได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image