กรมอุทยานจับร้านค้าเนื้อสัตว์ป่าริมถ.ไทรโยค-กาญจนบุรี  เตือนร้านค้า หลอกขายเนื้อเก๊ คุก 3 ปี (คลิป)

กรมอุทยานจับร้านค้าเนื้อสัตว์ป่าริมถนนไทรโยค-กาญจนบุรี  แจ้งเตือนร้านค้า หลอกขายเนื้อสัตว์ป่าเก๊ ให้ผู้ซื้อ โทษหนักจำคุก 3 ปี 

วันนี้ 8 สิงหาคม  นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตวืป่าและพันธุืพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส.นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ทุกสบอ.ปราบปรามดำเนินคดี กับร้านค้าสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด และต่อเนื่อง และ สืบเนื่องมาจาก วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ทางคณะเจ้าหน้าที่ ได้จับกุม นางอารยา บุญมี อายุ 54 ปี แม่ค้าขายเนื้อกวางป่า โดยได้ติดป้ายโฆษณา หน้าร้านค้าขายเนื้อ”กวางป่า” ริมถนนสายไทรโยค-กาญจนบุรี ยังไม่เกรงกลัวกฎหมาย ในข้อหาค้าเนื้อ”กวางป่า”โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ ส่งดำเนินคดีไปแล้วนั้นตน และนายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนสัตว์ป่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และชุดเจ้าหน้าที่สบอ.3 (บ้านโป่ง)   7นายได้ออกตรวจปราบปรามร้านค้าขายเนื้อสัตว์ป่า สองข้างทางถนนสายไทรโยค- กาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง

กรมอุทยานจับร้านค้าเนื้อสัตว์ป่าริมถ.ไทรโยค-กาญจนบุรี

กรมอุทยานจับร้านค้าเนื้อสัตว์ป่าริมถ.ไทรโยค-กาญจนบุรี เตือนร้านค้า หลอกขายเนื้อเก๊ คุก 3 ปี

Advertisement

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2020

 

Advertisement

 

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายณรงค์ศักดิ์ สมศักดิ์ กับ เจ้าหน้าที่สบอ.3 (บ้านโป่ง) ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวอีกครั้งเข้าไปล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่า จากร้านค้าที่โฆษณาหน้าร้าน ขายเนื้อสัตว์ โดยติดข้อความขาย”กวาง” “กระต่าย” อย่างเดียวไม่มีข้อความว่า “กวางป่า” “กระต่ายป่า” บริเวณข้างถนนสายไทรโยค -กาญจนบุรี บ้านท่าเสา หมู่ที่3 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

โดยนายณรงค์ศักดิ์  ที่ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว ก่อนที่ล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่าดังกล่าว ได้สอบถามกับคนขาย เจ้าของร้านค้าดังกล่าวว่าเป็นเนื้อกวางอะไร คนขายเจ้าของร้านตอบว่าเป็นเนื้อกวางลูซ่า ส่วนเนื้อกระต่ายไม่มี หลังจากได้รับคำตอบจากคนขายแล้ว นายณรงค์ศักดิ์ ได้ทำการซื้อเนื้อกวางลูซ่า จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 250 บาท เมื่อได้ซื้อขายเสร็จแล้วจึงได้ส่งสัญญานให้คณะเจ้าหน้าที่ที่ซุ่มอยู่บริเวณใกล้เคียงกับร้านค้าดังกล่าว ได้เข้ามาแสดงตัว และเข้าทำการตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ทราบชื่อคนขายเจ้าของร้านดังกล่าว ภายหลังว่า น.ส.สุวิมล กุมาทะอายุ 47 อยู่บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยนางสาว สุวิมลฯให้ถ้อยคำว่ายื่นยันกับคณะเจ้าหน้าที่ว่าเป็นเนื้อกวางเลี้ยงลูซ่า ไม่ใช่เนื้อกวางป่าสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

 

นายนิพนธ์ กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ฯจึงแจ้งให้ น.ส.สุวิมล ผู้ขายทราบว่าถึงแม้ จะติดป้ายโฆษณาว่าขายเนื้อสัตว์ว่า ” “กวาง” และให้ถ้อยคำว่า เป็นเนื้อกวางเลี้ยงลูซ่า ที่สามารถซื้อ ขาย ได้ก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการนำเอา “กวางป่า” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มาขายโดยอำพรางว่าเป็นเนื้อสัตว์เลี้ยง “กวางลูซ่า” เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย

เจ้าหน้าที่แจ้ง น.ส.สุวิมล ทราบว่า จะนำชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าวตามที่ กล่าวอ้างว่าไม่ใช่เนื้อสัตว์ป่า ไปตรวจ DNA ทีศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ กรม อุทยานฯ หากผลตรวจDNA ชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าว เป็นเนื้อกวางป่า ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองลำดับที่ 14 จะนำตัว น.ส.สุวิมลฯมาดำเนินคดีตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ภายหลังต่อไป ซึ่ง น.ส.สุวิมล รับทราบ และคณะเจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนไปยังร้านค้าทั้งหลาย ที่แสดงข้อความโฆษณาหน้าร้านว่าเป็น “กวางป่า” หรือ”กระต่ายป่า” หรือ”เก้ง” หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้มีการค้าหรือล่า สัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง แต่เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่าดังกล่าวแล้ว และนำชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ DNA หากผลปรากฎว่า เป็นเนื้อสัตว์ป่าเก๊ หรือเนื้อสัตว์เลี้ยง เช่น เอาเนื้อลูกวัวมาย้อมสีแดง หลอกขายว่าเป็นเนื้อ”กวางป่า” หรือโฆษณาติดป้ายว่า เป็น “กวางป่า” แต่ที่แท้จริงเป็นเนื้อสัตว์เลี้ยง”กวางลูซ่า”ถึงแม้คนขายจะไม่ผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แต่ก็เป็นการหลอกลวงผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภค ผิดกฎหมายอาญามาตรา 271 ฐาน ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณ แห่งของนั้นอันเป็นเท็จซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ 2522 มาตรา 47 ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 5หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ร้านค้าที่มีพฤติกรรมโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคในการขายเนื้อสัตว์ป่าเก๊ หรือเนื้อสัตว์เลี้ยง หลอกลวงโฆษณาว่าเป็นเนื้อสัตว์ป่า เช่น “กวางป่า””กระต่ายป่า” จึงขอให้ยกเลิกกระทำดังกล่าวเสีย มิฉะนั้นร้านค้าเหล่านั้นก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image