คำสั่งเด็ดขาดรัฐมนตรี “อนุทิน” ล้างบางหน่วยบริการทุจริต “บัตรทอง”

การตรวจพบพฤติกรรมการทุจริตของ “หน่วยบริการ” ที่ปั้นแต่งตัวเลข-ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อขอเบิกงบประมาณจากกองทุนบัตรทองนั้น ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงระบบการตรวจสอบที่ “เข้มงวด” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง ถือเป็นการยืนยันการมีอยู่จริงของ “ขบวนการโกงเงินแผ่นดิน” ที่พร้อมจะก่อการทุกเมื่อ โดยไม่สนใจหรือเกรงต่อหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ

แน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และจำเป็นต้องลากคอผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างถึงที่สุด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดปฏิบัติการปูพรมบุกค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 แห่ง เพื่ออายัดเอกสาร ใบเสร็จ เวชระเบียน และเครื่องคอมพิวเตอร์ ไว้เป็นหลักฐานประกอบการทำสำนวนคดี

ปฏิบัติการเชิงรุกดังกล่าว นำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ประกาศไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ต้องล้างบางทุจริตทั้งขบวนการ

Advertisement

“ผมยอมรับไม่ได้ที่จะมีใครมาปู้ยี่ปู้ยำเงินภาษีประชาชนซึ่งรัฐจัดสรรไว้สำหรับให้บริการด้านสุขภาพแก่ทุกคน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงได้สั่งการให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบและขยายผล เพื่อนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งหมดมารับโทษอย่างรุนแรงและเฉียบขาด” นายอนุทิน สั่งการในที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม และวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายอนุทินยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องนี้จะเอาผิดเต็มที่ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา เพิกถอนการเป็นสถานพยาบาล และหากพบแพทย์พยาบาลเกี่ยวข้องก็จะเอาด้วย โดยเฉพาะทางจรรยาบรรณที่มีโทษรุนแรงถึงการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ

สำหรับความเป็นมาของพฤติกรรมการทุจริตในครั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การป้องกันไม่ให้คนป่วยมี ต้นทุนที่ต่ำกว่า การรักษาพยาบาลหลังจากที่คนล้มป่วยไปแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีงบประมาณที่เรียกว่า งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จ่ายให้กับหน่วยบริการไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วย เช่น ตรวจคัดกรองภาวะโรคต่างๆ

Advertisement

เมื่อหน่วยบริการใดจัดบริการตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด ก็ให้บันทึกข้อมูลการให้บริการเข้ามาในระบบ จากนั้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการเหล่านั้นให้ แต่ปรากฏว่ามีหน่วยบริการที่ ทำเอกสารเท็จ หลอกว่าให้บริการประชาชนไปแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ให้บริการจริง

ในกรณี 18 คลินิกเอกชนที่ปรากฏเป็นข่าวในตอนแรก ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้สิทธิ 2 แสนราย แต่คลินิกเหล่านั้นส่งหลักฐานมาว่าได้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงไปถึง 1.7-1.8 แสนราย มันมากจนพิรุธเกินไป

ผลพวงจากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ สธ. นำไปสู่การขยายผลการตรวจสอบอย่างละเอียดและเด็ดขาด โดย สปสช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานกับบอร์ด สปสช.ว่า ได้ระดมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชี (Audit) จากทั่วประเทศเกือบ 300 ชีวิต มาตรวจเอกสารกว่า 1.2 ล้านฉบับ จนทำให้พบหน่วยบริการที่ทุจริตรวมเป็น 86 แห่งแล้ว

สำหรับการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 2 ล็อตใหญ่ๆ ได้แก่ ล็อตแรก ตรวจพบหน่วยบริการ 20 แห่ง ที่จงใจทุจริต แบ่งเป็นคลินิกเอกชน 18 แห่ง และหน่วยบริการทันตกรรม 2 แห่ง ตรงนี้นายอนุทินได้สั่งการให้ สปสช.ดำเนินการเอาผิดในทุกช่องทางด้วยกฎหมายถึง 6 ฉบับ ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุก ต้องจ่ายชดเชยทางแพ่ง มีโทษทางปกครอง มีสิทธิถูกเพิกถอนการเป็นสถานพยาบาล และมีโอกาสถูกเพิกถอนใบอนุญาต

“ผมขอย้ำว่า ผมเอาจริง ผมต้องการที่จะถอนรากถอนโคนและทำให้เป็นกรณีตัวอย่าง ผมจะไม่ปล่อยให้คนโกงชาติโกงแผ่นดินมีพื้นที่ยืนในสังคมอีกต่อไป” นายอนุทินระบุ

สำหรับล็อตที่สอง เป็นการขยายผลเพิ่มเติมจนพบว่ามีหน่วยบริการอีก 66 แห่งที่ทุจริต โดยในขั้นตอนนี้ได้พบ ตัวละครสำคัญ นั่นคือห้องปฏิบัติการ (Lab) จำนวน 2 แห่ง ที่มีพฤติกรรม สมรู้ร่วมคิด กับหน่วยบริการจำนวนมาก ด้วยการจัดทำเอกสารผลตรวจเลือดปลอม เพื่อให้หน่วยบริการใช้เป็นหลักฐานนำมาเบิกเงินกับ สปสช.

“แต่ห้องปฏิบัติการเหล่านั้นไม่ได้เป็นหน่วยบริการหรือเป็นคู่สัญญากับ สปสช. นั่นทำให้ สปสช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ ตรงนี้ผมจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังดีเอสไอ สบส. ป.ป.ท. อัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนนำมาสู่การปูพรมบุกค้น เพื่ออายัดเอกสารหลักฐานมาประกอบการดำเนินคดี” นายอนุทินกล่าวในที่ประชุม

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวต่อไปว่า ในอดีตเราไม่เคยพบพฤติกรรมการทุจริตเช่นนี้ จะมีก็เพียงแต่การส่งข้อมูลเบิกจ่ายไม่ถูกต้องโดยไม่เจตนา ซึ่งมีทั้งกรณีหน่วยบริการเบิกจ่ายไม่ครบ ซึ่ง สปสช.มีระบบจ่ายเงินเพิ่ม และกรณีที่เบิกเกิน ซึ่ง สปสช.ก็จะเรียกเงินคืน แต่จากเหตุการณ์โกงโดยเจตนาในครั้งนี้ สปสช.จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังกลับไปอีก 10 ปี หากพบการทุจริตก็ให้ดำเนินการเด็ดขาดเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปสช.ตรวจพบการทุจริตรวมแล้ว 86 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 8 แห่ง คลินิกเอกชน 73 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างไม่มีข้อละเว้น

รองนายกฯ รายนี้บอกอีกว่า ในระหว่างที่กระบวนการตรวจสอบเดินหน้า ก็ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมให้ สปสช.หาแนวทางอุดช่องโหว่ในระบบการเบิกจ่ายควบคู่กันไป เพราะเดิมจะเป็นการเบิกจ่ายเงินตามข้อมูลที่หน่วยบริการคีย์เข้าระบบ นั่นหมายความว่าหากต้องการทราบว่าประชาชนมาใช้สิทธิจริงหรือไม่นั้น ต้องรอสุ่มตรวจหลังการใช้บริการเท่านั้น

ทว่า หลังจากนี้ สปสช.จะต้องเพิ่มขั้นตอนการยืนยันตัวบุคคลโดยใช้ Smart card reader หรือ Application เพื่อเป็นหลักฐานว่าประชาชนมาใช้บริการจริง ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเริ่มใช้บริการ

“การกวาดล้างทุจริตเป็นนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้น้ำหนักความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน ภาควิชาการ หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน และหากใครพบความไม่ชอบมาพากล หรือมีข้อมูลการทุจริตไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด สามารถส่งข้อมูลมาถึงผมได้ทุกช่องทาง ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข ที่พรรคภูมิใจไทย รวมถึงทางโซเชียลมีเดียด้วย” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image