นักวิจัยรามา เจ๋งค้นพบยีนแพ้ยาแบคทริมครั้งแรกของโลก ม.ลิเวอร์พูล เล็งศึกษาต่อยอด

นักวิจัยรามา เจ๋งค้นพบยีนแพ้ยาแบคทริมครั้งแรกของโลก ม.ลิเวอร์พูล เล็งศึกษาต่อยอด

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก รศ.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยโครงการ เภสัชพันธุศาสตร์ต่อการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังรุนแรงในคนไทย ว่า เป็นที่น่ายินดีว่าล่าสุดทีมวิจัย รพ.รามาฯ ได้ค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผื่นแพ้ยาในยาแบคทริม (Bactrim) หรือ Sulfamethoxazole Trimethoprim ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาซัลฟา โดยเฉพาะการแพ้ยารุนแรงทาง      ผิวหนัง ผู้ป่วยที่มียีนแบบนี้จะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติหลายร้อยเท่า นำมาสู่การพัฒนาการตรวจยีนแพ้ยาก่อนที่จะให้ยาเพื่อลดโอกาสเสี่ยงแพ้ยาในยาหลายชนิด ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ การตรวจยีนแพ้ยา HLA B*15:02 สำหรับโอกาสแพ้ยากันชัก carbamazepine ที่สิทธิบัตรทองครอบคลุมการตรวจนี้ด้วย

รศ.ชลภัทร กล่าวว่า จากการศึกษาแบบควบคุม (case-control) ในคนไทย เพื่อหาความเสี่ยงพบว่า หากมีความผิดปกติของยีน HLA B*15:02 และ HLA C*08:01 จะสัมพันธ์กับการเกิดการแพ้ยาแบบ Stevens-Johnson’s Syndrome ที่ผิวลอก ผื่นขึ้น เยื่อบุตา เยื่อบุปากไหม้ หากมีความผิดปกติของยีน HLA B*13:01 จะสัมพันธ์กับการเกิดการแพ้ยาแบบ DRESS (Drug Reaction with Eosinophillia and Systemic Symptoms) ซึ่งมีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตพอๆกัน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนที่มียีนผิดปกติจะเพิ่มโอกาสแพ้ยามากกว่าคนที่ยีนไม่ผิดปกติประมาณ 15 เท่า

Advertisement

“ผลงานงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติระดับโลก คือ Clinical Pharmacology and Therapeutics Impact factors 7.266 (Q1), JCR ลำดับที่ 16/ 270 (pharmacology and pharmacy)  โดยจัดให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ของโลกที่แสดงให้เห็นว่า PGx marker ของการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรงของยา Co-trimoxazole มีลักษณะเฉพาะเจาะจงต่อรูปแบบการแพ้ยา โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลนำไปศึกษาต่อยอดเพื่อขยายผลต่อไป” รศ.ชลภัทร กล่าว

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยาแบคทริม (Bactrim) หรือ Sulfamethoxazole Trimethoprim เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาซัลฟา ที่ใช้รักษารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีราคาถูก อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าคนไทยมีอาการแพ้มากที่สุดเป็นลำดับหนึ่ง และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์ได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่แพทย์จะใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส แต่พบอัตราการแพ้ยาสูงทำให้แพทย์กลัวการใช้ยากับคนไข้กลุ่มนี้มาก

Advertisement

 

“นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่ทำโดยนักวิจัยไทย เพื่อประชาชนไทย ในอนาคตเราจะเห็นข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์ของคนไทย และสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยการใช้ยาให้มีประสิทธิภาพและผลเสียน้อยลง ลดอาการแพ้ และลดเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากการตรวจยีนแพ้ยาราคาไม่แพงมาก และทำเองได้ และในอนาคตหากเป็นไปได้อยากให้ผลักดันเข้าสิทธิบัตรทอง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง” รศ.ชลภัทร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image