ไทยแพนร้องสอดซินเจนทาถอนแบน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

ไทยแพนร้องสอดซินเจนทา เพิกถอนประกาศแบนสารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 กำหนดให้สารพาราควอต และ สารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร้ายแรง เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่ปรากฏว่า บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด บริษัทผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 5 ราย ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว และคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 750/2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีผลให้สามารถมีการนำเข้าและจำหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้ต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) และตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ได้ยื่นร้องสอดคำร้องของบริษัท ซินเจนทาฯ โดยเป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.12/2563 ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 กำหนดให้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร้ายแรง เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่ปรากฏว่า บริษัท ซินเจนทาฯ บริษัทผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ต่อศาลปกครองกลาง โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 และคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 750/2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีผลให้สามารถมีการนำเข้าและจำหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้ต่อไป ทั้งๆ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ห้ามใช้พาราควอตมากว่า 20 ปีแล้ว

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ในฐานะตัวแทนไทยแพน ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขา องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค และ กลุ่มเกษตรกรที่ได้ร่วมกันศึกษาติดตามข้อมูลปัญหาความเป็นอันตรายและผลกระทบจากการใช้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส และได้รณรงค์สื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการออกประกาศแบนสารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการความเป็นอันตรายร้ายแรงและผลกระทบจากการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 18 ที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและระงับอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม” กับทั้งหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน และแพทยสภา ก็ได้มีความเห็น และข้อเสนอตรงกันให้แบนสารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส

Advertisement

“เครือข่ายฯ จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิร้องสอด ขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดีนี้ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ร้องที่ 1 มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เป็นผู้ร้องที่ 2 เพื่อเข้าร่วมนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากที่หน่วยงานราชการชี้แจงต่อศาลปกครอง เพื่อให้ผลคำพิพากษานำไปสู่การคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกร และปกป้องประโยชน์ของสาธารณะและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” น.ส.ปรกชล กล่าว

 

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image